“กยศ.” ลุย พ.ร.บ.ใหม่ ลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% เคลียร์ปมหักเงินเดือน 3,000 บ.

กยศ. เดินหน้าตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี เปลี่ยนลำดับเป็น “เงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ” ปลดผู้ค้ำประกันเมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสผู้กู้ยืมผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 15 ปี พร้อมอัปเดตระบบรองรับผู้กู้เจอหักเงินเดือน 3,000 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 พ.ค.68) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยถึงสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ว่า มีการปรับลำดับการชำระหนี้ใหม่ โดยเรียงลำดับการชำระเป็น “เงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ” เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็น 1% ต่อปี พร้อมทั้งลดอัตราเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับ) จากสูงสุด 18% ต่อปี เหลือเพียง 0.5% ต่อปี รวมทั้งให้ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืม คำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) และคืนเงินชำระหนี้ส่วนเกินให้แก่ผู้กู้ยืม ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์ ดังนี้

ปรับโครงสร้างหนี้ สามารถปลดภาระผู้ค้ำประกันได้ทันที ผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระเงินคืน กยศ. เป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และสามารถชำระให้เสร็จสิ้นได้นานถึง 15 ปี โดยในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมเงินต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์และเมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น กยศ. จะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% แต่หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้สะสมเกิน 6 งวด จะถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างสิ้นสุดลง และจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ค.68 มีผู้กู้ยืมมาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ รวม 598,334 บัญชี แบ่งเป็น สัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบกระดาษจำนวน 261,110 บัญชี และสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบออนไลน์ จำนวน 337,224 บัญชี โดยผู้กู้ยืมสามารถดำเนินการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th และยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD

คำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) ให้แก่ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน จำนวน 3,835,213 บัญชี โดย กยศ. นำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ โดยเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้โดยตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และลดเบี้ยปรับเหลือเพียงอัตรา 0.5% ต่อปี ซึ่งผลจากการคำนวณปรากฏว่า มีผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้ลดลง 3,548,016 บัญชี กลุ่มที่มียอดหนี้เท่าเดิม 755 บัญชี และกลุ่มที่ไม่มีหนี้คงเหลือ หรือ ปิดบัญชี 80 บัญชี โดยมีผู้กู้ยืมที่มีสิทธิขอรับคืนเงินที่ชำระหนี้เกิน จำนวน 286,362 บัญชี

ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมลงทะเบียนขอรับเงินคืนแล้ว จำนวน 26,463 บัญชี และได้คืนเงินไปแล้วจำนวน 2,602 บัญชี เป็นเงินรวม 73.70 ล้านบาท

สำหรับการคืนเงินส่วนที่ชำระหนี้เกินดังกล่าว กยศ. จะคืนเงินผ่านระบบโอนเงินแบบพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีธนาคารด้วยเลขประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเท่านั้น และแบ่งการคืนเงินให้ผู้กู้ยืมแต่ละรายเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะคืนเงินให้ในอัตรา 70% ของยอดเงินที่คำนวณได้ และส่วนที่ 2 จะคืนเงินให้เมื่อ กยศ. คำนวณหนี้ผ่านระบบ DSL แล้วเสร็จ และหากว่าผู้กู้ยืมยังมีเงินส่วนที่ชำระเกิน กยศ. จะคืนเงินส่วนที่เหลือให้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากผู้กู้ยืมได้รับคืนเงินส่วนแรกเกินสิทธิ์ กยศ. จำเป็นต้องเรียกเงินส่วนเกินคืน ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนสามารถเข้าระบบตรวจสอบสถานะบัญชีผู้กู้ยืมเงินที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th

หากมีสิทธิได้รับเงินคืนจะสามารถลงทะเบียนขอรับเงินคืนได้ โดยผู้กู้ยืมจะได้รับเงินคืนภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2568 อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ขณะนี้ยังไม่สามารถรองรับระบบการคำนวณหนี้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ กยศ. อยู่ระหว่างการพัฒนาแอปเวอร์ใหม่เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กยศ. ได้ชี้แจงประเด็นการหักเงินเดือนเพิ่ม ว่า ระบบการหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ที่ผ่านมา กยศ. ได้หักเฉพาะยอดหนี้ปีปัจจุบัน ไม่รวมยอดหนี้ค้างในปีก่อนหน้า ซึ่งบางรายจะมียอดหนี้ค้างเก่าทำให้ในเดือนเมษายน 2568 ผู้กู้บางรายถูกหักเงินเดือนสูงขึ้น

ส่วนการรองรับผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี กยศ. มีแนวทางดูแลเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. กรณีผู้กู้ที่ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จะต้องชำระยอดหนี้ในงวดแรกด้วยตนเอง พร้อมแจ้งให้นายจ้างทราบ เพื่อป้องกันการถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทในเดือนนั้น โดยการหักเงินเดือนตามสัญญาใหม่จะเริ่มตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป
  2. กรณีผู้กู้ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และไม่สามารถให้หักเงินเดือนเพิ่มได้ สามารถยื่นขอปรับลดจำนวนเงินหักเดือนละ 3,000 บาท ได้ทางเว็บไซต์ กยศ. โดยยื่นภายในวันที่ 24 พ.ค.68 สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม หรือยื่นภายในวันที่ 14 มิ.ย.68 สำหรับงวดเดือนมิถุนายน 2568 กยศ. จะพิจารณาและแจ้งผลผ่าน SMS พร้อมส่งข้อมูลให้กับนายจ้างผ่านระบบ e-PaySLF

มาตรการลดหย่อนหนี้ กยศ. ได้ออกมาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้กู้ชำระหนี้ปิดบัญชี ช่วงวันที่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค.68 โดยมอบส่วนลดต้นเงิน 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และยังอยู่ในระยะเวลาปลอดหนี้หรือกำลังชำระหนี้อยู่ โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิได้ทางเว็บไซต์ กยศ.

“กยศ. ขอให้ผู้กู้ยืมทุกคนที่เคยได้รับโอกาสจาก กยศ. ชำระเงินคืน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป เพื่อให้เยาวชนไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

Back to top button