TOP ดึง Wood คุมโปรเจกต์ “CFP” 1.7 แสนล้าน จับตา Bechtel-JGC ชิงดำรับเหมา เคาะมิ.ย.นี้

ไทยออยล์ เคาะ “Wood PLC” บริหารโครงการพลังงานสะอาด พร้อมเดินหน้าคัดเลือกผู้รับเหมาหลักรายใหม่แทน UJV คาดประกาศชื่อ มิ.ย.นี้ จับตายักษ์ใหญ่อย่าง Bechtel และ JGC ร่วมชิงดำงาน EPC ด้าน TOP มั่นใจไตรมาส 2/68 ฟื้นตัว ขณะเร่งเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/71 ก่อน COD ทุกยูนิต


แหล่งข่าวจากวงการที่ปรึกษาด้านพลังงาน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ล่าสุดคณะกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ได้มีมติแต่งตั้งบริษัท Wood PLC เป็น Procurement & Construction Management (EPCM) มีหน้าที่ผู้บริหารจัดการและควบคุมโครงการพลังงานสะอาด CFP (Clean Fuel Project) ทั้งหมด ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท (ยังไม่รวมงบประมาณเพิ่มเติมอีก 6.2 หมื่นล้านบาท) รวมทั้ง Wood PLC. ยังมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้รับเหมาหลักรายใหม่ แทนกลุ่ม UJV  ที่ประกอบด้วย Samsung, Petrofac และ Saipem ที่ไทยออยล์บอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว

บริษัท Wood PLC. มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษากลุ่มปตท.มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิศวกรรมข้ามชาติสัญชาติอังกฤษ Wood เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำระดับโลกด้านการให้คำปรึกษาและวิศวกรรมในตลาดพลังงาน และวัสดุแก่ลูกค้าในภาคส่วนพลังงานและวัสดุทั่วโลก บริษัทเสนอบริการด้านต่าง ๆ เช่น โซลูชันดิจิทัล, การเพิ่มประสิทธิภาพแก่สินทรัพย์และการลดก๊าซคาร์บอน

โดยติดอันดับหนึ่งในสาม บริษัทวิศวกรรมชั้นนำในด้านน้ำมันและก๊าซ การกลั่นและปิโตรเคมี สารเคมีพิเศษ และการทำเหมืองแร่ โดย ENR 2022

ทั้งนี้ EPCM แตกต่างจาก EPC (Engineering, Procurement,Construction) ตรงที่ EPC เป็นการจ้างผู้รับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ทำงานครบทั้งหมด ส่วน EPCM เป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการและควบคุมโครงการให้กับเจ้าของโครงการ โดยเจ้าของยังคงควบคุมงบประมาณและจ้างผู้รับเหมาเอง

  • Bechtel-JGC ชิงดำ!

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นบริษัทที่เป็นตัวเลือกรับงาน EPC รายใหม่มีจำนวน  2 ราย และน่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้รับเหมาหลักได้ภายในไตรมาส 3/2568 นี้ ได้แก่

  1. Bechtel จากสหรัฐฯ (มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาในกลุ่มปตท.) เป็นองค์กรด้านวิศวกรรมและก่อสร้างระดับโลกที่ให้บริการด้านเทคนิค, การจัดการ, การจัดซื้อและการก่อสร้าง (EPC) ชั้นนำแก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน บริการต่าง ๆ ได้แก่ การวางแผนแนวคิด, การศึกษาความเป็นไปได้, ด้านวิศวกรรม, การจัดซื้อหรือจัดหาและการก่อสร้าง, การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการ และการจัดการโครงการ

โดย Bechtel International รับผิดชอบงานทั้งหมดที่ดำเนินการในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการจัดการและทรัพยากรของไทย ร่วมกับการสนับสนุนจาก Bechtel Corporation ทั่วโลก เพื่อดำเนินโครงการในภูมิภาคนี้ Bechtel International มีสำนักงานถาวรในกรุงเทพฯ เพื่อให้บริการแก่ธุรกิจท่อส่งน้ำมัน, นอกชายฝั่ง, ปิโตรเลียมและเคมี, การทำเหมือง, พลังงาน, วิศวกรรมโยธา และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย และทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Bechtel International เป็นบริษัทในเครือของ Bechtel Oil, Gas and Chemicals, Inc. ในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ Bechtel เป็นบริษัทเอกชนและมีสำนักงานใหญ่ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย Bechtel ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2441 เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานมากกว่า 30 แห่งทั่วโลก สำหรับผลการดำเนินงานบริษัทปี 2566 มีรายได้รวมจากการบริหารจัดการ 721,000 ล้านบาท รายได้หลัก 574,000 ล้านบาท มูลค่างานใหม่ที่ได้รับ 1,067,500 ล้านบาท, ปี 2565 มีรายได้รวมจากการบริหารจัดการ 588,000 ล้านบาท รายได้หลัก 441,000 ล้านบาท มูลค่างานใหม่ที่ได้รับ 1,053,500 ล้านบาท และปี 2564 รายได้รวมจากการบริหารจัดการ 612,500 ล้านบาท รายได้หลัก 427,000 ล้านบาท มูลค่างานใหม่ที่ได้รับ 297,500 ล้านบาท

  1. บริษัท เจจีซี (ไทยแลนด์) จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น เป็นบริษัทที่เคยเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานสะอาดของไทยออยล์ และผ่านด้านคุณสมบัติแล้ว ปัจจุบันดำเนินธุรกิจในสองกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Total Engineering ซึ่งมุ่งเน้นไปที่สาขาธุรกิจที่ครอบคลุมและการผลิตวัสดุที่ใช้งานได้จริงโดยอาศัยเทคโนโลยีเฉพาะตัว JGC ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

บริษัท JGC Holdings Corporation ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท เจจีซี (ไทยแลนด์) จำกัด รายงานผลประกอบการปี2566 โดยมีมูลค่าสัญญาใหม่รวมประมาณ 88,800 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 219,700 ล้านบาท สำหรับงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) อยู่ที่ 313,400 ล้านบาท แสดงถึงปริมาณงานที่ยังต้องดำเนินการอยู่ในอนาคต แม้จะลดลงจากปีก่อน แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และยอดขายสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาอยู่ที่ 208,100 ล้านบาท เพิ่มจาก 151,700 ล้านบาท ในปี 2565 และ 107,100 ล้านบาท ในปี 2564

โดยมีกำไรจากการดำเนินงานปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 4,750 ล้านบาท ลดลงจาก 9,170 ล้านบาทในปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 1,960 ล้านบาท ลดลงจาก 9,020 ล้านบาท ในปี 2565 แต่กลับมามีกำไรหลังจากขาดทุนกว่า 8,890 ล้านบาท ในปี 2564

บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ประมาณ 81,100 ล้านบาท ณ สิ้นปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย เงินปันผลต่อหุ้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40 เยนต่อหุ้น หรือประมาณ 10 บาทต่อหุ้น ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ลดลงมาอยู่ที่ 2.0% จาก 7.8% ในปีก่อน และผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ลดลงเหลือ 0% สะท้อนถึงแรงกดดันด้านประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ในปีนี้ และสินทรัพย์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 198,000 ล้านบาท ขณะที่ทุนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 96,500 ล้านบาท

ข้อมูลผู้ถือหุ้น (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท JGC Holdings ได้แก่ 1. The Master Trust Bank of Japan, Ltd. (บัญชีทรัสต์) ถือในสัดส่วน 18.02% 2. Custody Bank of Japan, Ltd. (บัญชีทรัสต์) 11.91% 3. JGC Trading & Services Co., Ltd. 5.01% 4. JGC-S Scholarship Foundation 3.48% 5. State Street Bank and Trust Company 2.73% 6. Northern Trust Global Services SE (ลักเซมเบิร์ก) 1.90% 7. Government of Norway 1.38% 8. Sumitomo Mitsui Banking Corporation 1.36% 9. JP Morgan Chase Bank 1.22% และ 10. Mizuho Bank, Ltd. 1.19%

ทั้งนี้คาดว่าจะมีข้อสรุปเลือกบริษัทที่จะได้รับงาน EPC ภายในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากที่ได้หารือร่วมกันหลายฝ่าย โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกจะไม่เน้นไปที่ราคาค่าจ้างเหมือนเดิม แต่จะดูที่ประสบการณ์และความมั่นคงทางการเงินบริษัทประกอบการพิจารณา ป้องกันการทิ้งงานเหมือนกรณีของ UJV เพื่อให้โครงการพลังงานสะอาดเสร็จตามแผนปี 2571 พร้อมจะ COD ในทุกยูนิตของโครงการ แต่ระหว่างนี้จะทยอยทดสอบระบบในแต่ละหน่วย ก่อนหน้านี้บริษัท ไทยออยล์ ประกาศว่า โครงการ CFP จะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ช่วงไตรมาส 3/2571

  • ปิดไซต์งาน CFP ชั่วคราว

แหล่งข่าวจากผู้รับเหมาช่วงโครงการ CFP เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัท UJV ได้ทำหนังสือแจ้งต่อผู้รับเหมาช่วงทั้งหมด ให้ออกจากโครงการพลังงานสะอาด ได้แก่ SRICHA, STECON, CAZ และ TRC เป็นต้น เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัท ไทยออยล์ ได้บอกเลิกสัญญาจ้าง UJV ไปแล้ว

ส่วนค่าจ้างที่ UJV ค้างจ่ายต่อบริษัทผู้รับเหมาช่วงทั้งหมดคาดว่าจะต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป ปัจจุบัน STECON  ได้ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการในต่างประเทศแล้ว ผู้รับเหมาหลักรายใหม่จะไม่เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว แต่คาดว่าจะมีการจ้างผู้รับเหมาช่วงรายเดิมกลับเข้ามาประมาณ 70-80%

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา EPC โดยมีผลทันที เนื่องจากผู้รับเหมาไม่ปฏิบัติตามภาระผูกพันในสัญญา EPC ดังนั้นบริษัทขอยืนยันว่าการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา EPC จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จ โดยบริษัทได้มีการจัดทำแผนงาน เพื่อดำเนินการให้โครงการ CFP แล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2571 และได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ และให้การสนับสนุนบริษัทในการบริหารจัดการโครงการในแต่ละระยะจนแล้วเสร็จ

สำหรับงานก่อสร้างโครงการ CFP จะดำเนินการต่อโดยผู้รับเหมาที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้การดำเนินงานก่อสร้างโครงการ CFP แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนงานบริษัทต่อไป

  • กำลังผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวัน

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) กล่าวว่า กำลังการผลิตของไทยออยล์ในปัจจุบันอยู่ที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจาก CFP แล้วเสร็จ  จะเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นประมาณ 45%) โดยการเปลี่ยนแปลงประเภทผลิตภัณฑ์ หลัง CFP แล้วเสร็จ ไทยออยล์จะสามารถใช้น้ำมันดิบชนิดหนัก (Heavy Crude Oil) ซึ่งมีราคาถูกลงได้มากขึ้น และจะเน้นเพิ่มสัดส่วนการผลิตดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน (Jet Fuel) ซึ่งมีมาร์จิ้นสูงขึ้น พร้อมทั้งยกเลิกการผลิตน้ำมันเตา ซึ่งมีมาร์จิ้นต่ำหรือบางครั้งขาดทุน

โดยสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากการรวมกิจการระหว่างโรงกลั่นบางจากและเอสโซ่ ทำให้กำลังการผลิตรวมของบางจาก (3.1 แสนบาร์เรลต่อวัน) สูงกว่าโรงกลั่นไทยออยล์ (2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน) เล็กน้อยในปัจจุบัน แต่เมื่อโครงการ CFP แล้วเสร็จ ไทยออยล์จะมีกำลังการผลิตสูงกว่าบางจากอย่างแน่นอน

ส่วนค่าการกลั่นปกติของไทยออยล์เฉลี่ยประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นหลังเดินเครื่อง  CFP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นประมาณ 9-11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ทำให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น มาจากการลดต้นทุนการผลิตโดยใช้น้ำมันดิบราคาถูกลง และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง เช่น ดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน แทนน้ำมันเตา

  • Q2 ฟื้นค่ากลั่นหนุน

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2568 คาดปรับตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน ฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลขับขี่ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนความต้องการใช้นํ้ามันเบนซินและนํ้ามันอากาศยานให้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับบางโรงกลั่นฯ ปิดตัวลง ทำให้ซัพพลายในตลาดลดลง ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น หลังเห็นสัญญาณที่ฟื้นตัวในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2568

ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าตลาดโรงกลั่นน่าจะมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากปีนี้มีกำหนดการของโรงกลั่นทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ หลายแห่งที่จะปิดตัวลง โดยคิดรวมกันเป็นล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ซัพพลายของโรงกลั่นลดลงและทำให้ค่าการกลั่น (GRM) ในตลาดสิงคโปร์อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ในส่วนธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงต้นไตรมาส 2/2568 ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเรื่องภาษีของสหรัฐฯ ทำให้ดีมานด์ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้กำลังการผลิตเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย จึงคาดว่าอาจมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นได้บ้างโดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค. ที่เข้าสู่หน้าร้อนของยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการใช้ขวดน้ำดื่มที่ทำจากผลิตภัณฑ์ PET เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตใหญ่ของโลก หากสามารถนำเข้าในราคาที่ดี จะได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ลดลง จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงของประเทศได้

ส่วนงบลงทุนสำหรับปีนี้ บริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 583 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายของโครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่าเงินลงทุนปีนี้ประมาณ 442 ล้านเหรียญสหรัฐ และในส่วนที่เป็นงบลงทุนในโครงการอื่น ๆ อีกประมาณ 141 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ปรับปรุงคุณภาพของโรงกลั่นและระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทิศทางไตรมาส 2/2568 ของ TOP จะได้รับปัจจัยบวกจากค่าการกลั่น (market GRM) ที่ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน ช่วยชดเชยผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (stock loss) ที่เป็นไปได้ ประเมินว่า TOP จะเห็น market GRM ที่ฟื้นตัวตาม crack spread ที่ปรับตัวสูงขึ้นมา จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบจากการรับรู้ stock loss (net of NRV) ที่เป็นไปได้ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ Brent ที่ปรับตัวลดลง 12%

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการ CFP น่าจะดำเนินต่อได้ แม้ยังอยู่ในขั้นตอนการหาผู้รับเหมาใหม่ ในที่ประชุมนักวิเคราะห์ TOP เชื่อว่าโครงการจะดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีข้อพิพาททางกฎหมายที่ดำเนินอยู่กับบริษัทผู้รับเหมาเดิม โดย TOP ยังคงเป้าหมายว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในด้านของ action plan ภายในไตรมาส 3/2568 และจะเริ่ม full COD ได้ในไตรมาส 3/2571

Back to top button