
“อนุสรณ์” เตือน! เกมการค้า “ทรัมป์” ลึกกว่าที่คิด สงครามภาษีแค่ฉากหน้า
กูรูเศรษฐศาสตร์ มอง สงครามภาษีอาจแค่ฉากหน้า “กลยุทธ์ทรัมป์” ปล่อยดอลลาร์อ่อน - บาทแข็งอาจแตะ 31 บาท หลังประกาศขึ้นภาษีอียู 50% เริ่ม 1 มิ.ย.นี้
วันนี้ (25 พ.ค. 68) รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีมุมมองภายหลังการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไม่มีความคืบหน้า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอียู 50% โดยมีกำหนดเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย.นี้
“การเก็บภาษีในระดับ 50% ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และอียูอย่างมาก ขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสหรัฐฯ และอียูมีมูลค่าสูงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี มูลค่าการค้าในระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่ได้รับผลกระทบนี้ ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสต่อการส่งออกสินค้าของไทย” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะมีการเร่งรีบเจรจาก่อนที่จะเป็นการปรับเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้า ตลาดหุ้นที่ปรับฐานลงมาก็จะฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง และมีข้อสงสัยมากขึ้นว่าการพลิกกลับไปมาและความไม่คงเส้นคงวาของนโยบายภาษีการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจเป็นวิธีการแสวงหากำไรจากการสวิงขึ้นลงของราคาหุ้นที่เข้าข่ายการใช้ข้อมูลภายใน (Inside Information) ของกลุ่มผลประโยชน์เครือข่ายผู้มีอำนาจ
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย แนะให้มองกรณีของอียู เพราะทำให้เห็นชัดเจนว่า การผนึกกำลังของภูมิภาคย่อมสร้างอำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกาได้ดีกว่าและไม่ตกเป็นเบี้ยล่างในการเจรจา การผนึกกำลังกับประเทศอาเซียนเพื่อไปเจรจาต่อรองร่วมกันจะเพิ่มอำนาจต่อรองให้ประเทศไทย ผู้นำอาเซียนต้องหารือกัน หากแต่ละประเทศเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ จะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย และอาจต้องทำตามผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจตามที่สหรัฐฯ ต้องการเป็นหลัก การลดอัตราภาษีให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ การเปิดตลาดและการเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เป็นกลยุทธ์การเจรจาที่ทุกประเทศน่าจะนำมาใช้เช่นเดียวกัน
รศ.ดร.อนุสรณ์ สนับสนุนแนวคิดผนึกกำลังอาเซียนต่อรองมหาอำนาจ โดยระบุว่า หากกลยุทธ์เหล่านี้ทำในนามของ “อาเซียน” ย่อมมีพลังมากกว่า การไปเจรจาแบบทวิภาคี การแลกได้แลกเสีย (Trade Off) ในการเจรจาการค้าล้วนเกี่ยวพันกับมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสิ้น ไม่ใช่ประเด็นเศรษฐกิจล้วนๆ อย่างประเด็น Market Access ที่กลุ่มทุนบริการของสหรัฐฯ ต้องการให้เกิดขึ้น กลุ่มทุนบริการของไทยที่มีอำนาจผูกขาดในโครงสร้างตลาดภายใน ย่อมต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงและต้องการรักษาอำนาจผูกขาดไว้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมโทรคมนาคม, ธุรกิจอุตสาหกรรมการเงิน เป็นต้น หรือประเด็นภาษีเพื่อปกป้องตลาดภายในภาคเกษตรกรรมของไทย
- เสนอรัฐเร่งเจรจา FTA กับอียู
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย มองว่า หากอียูถูกเก็บภาษี 50% จากสหรัฐฯ และอียูตอบโต้ ไทยอาจได้ส่วนแบ่งตลาดจากอียูเพิ่มในสินค้าบางประเภท ขณะที่สินค้าจากอียูมีราคาสูงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ไทยอาจเข้าไปแทนที่ได้ในบางกลุ่ม เช่น อาหารแปรรูป เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ มีโอกาสขยายตลาดในอียู หากอียูตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการลดพึ่งพาสินค้าสหรัฐฯ ไทยอาจเข้าไปแทนที่ในบางกลุ่มสินค้า เช่น สินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาจมีการย้ายฐานการผลิตเพิ่มขึ้น บริษัทอียูหรือต่างชาติอาจย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ ไทยจึงควรเร่งทำข้อตกลงทางการค้า (FTA) กับอียูเพื่อขยายตลาดเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังมองว่า สงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้อาจจบลงที่ปล่อยให้ดอลลาร์อ่อนค่า ถึงที่สุดแล้วสหรัฐฯ อาจใช้กลยุทธ์ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เพื่อปรับสมดุลทางการค้าและลดการขาดดุลจำนวนมาก การทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้สหรัฐฯ สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในมิติราคาได้
“สหรัฐฯ เคยใช้วิธีนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้วผ่านข้อตกลง Plaza Accord โดยญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ได้ปล่อยให้ค่าเงินของตัวเองแข็งค่าขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานและการเกินดุลการค้า และแทรกแซงค่าเงินให้เงินสกุลของตัวเองแข็งค่าขึ้นนั่นเอง การแทรกแซงค่าเงินอาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงและเงินสกุลหลักอื่นๆ แข็งค่าขึ้นได้ แต่จะมีผลในระยะสั้นเท่านั้น หากไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดและอุปสงค์ของเงินดอลลาร์ในตลาดปริวรรตเงินตราโลก” กูรูเศรษฐศาสตร์ไทย ระบุ
พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ “ดอลลาร์สหรัฐ” และ “พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ” ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ อยู่ โดยดอลลาร์สหรัฐอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ ประมาณ 58-60% อุปสงค์เหล่านี้กดดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่า แม้สถานะดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว จากหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯ การถูกลดอันดับเครดิต มีการเทขายดอลลาร์และพันธบัตรของธนาคารกลางหลายประเทศ
- ดอลลาร์ = กลยุทธ์ลับของทรัมป์?
ขณะเดียวกัน ยังมีการเสนอแนวคิด Mar-a-Lago Accord โดยกลุ่มที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ เสนอให้ประเทศต่าง ๆ ถือพันธบัตรระยะยาวพิเศษชนิดไม่มีดอกเบี้ย (Zero Coupon Century Bond) แทนดอลลาร์สหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชนิดมีดอกเบี้ย เป็นการจัดระเบียบการเงินโลกใหม่ มีเป้าหมายลดการขาดดุลการค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคส่งออกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ พร้อมกับยังคงรักษาบทบาทดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะเงินสกุลหลักของโลก
กลไกนี้จะช่วยทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงและลดความต้องการดอลลาร์ระยะสั้น และทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถ่ายโอนความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยไปให้กับนักลงทุนและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ แทน ต้นทุนดอกเบี้ยและหนี้สาธารณะลดลงอย่างมาก โดยการนำเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ถือพันธบัตรระยะยาวพิเศษชนิดไม่มีดอกเบี้ยนั้น รัฐบาลทรัมป์น่าจะเอาเรื่องการเปิดตลาด การสนับสนุนทางด้านความมั่นคง กำแพงภาษีนำเข้ามาเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวและบีบให้ดำเนินการตามต้องการ
“การปฏิบัติตามแนวคิด Mar-a-Lago Accord อาจไม่ง่ายเหมือน Plaza Accord ปี ค.ศ. 1985 แต่แนวคิดนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางจุดยืนเกี่ยวกับบทบาทของดอลลาร์ในระบบการเงินโลก ทำให้ความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านมูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง ดอลลาร์อ่อนค่าลงจะทำให้ประเทศที่ถือเงินดอลลาร์จำนวนมากในทุนสำรองระหว่างประเทศอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมากได้” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ระบุ
- บาทแข็งไม่ใช่ข่าวดีเสมอไป
รศ.ดร.อนุสรณ์ วิเคราะห์ทิ้งท้ายว่า มีโอกาสที่เงินบาทแข็งแตะ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ อันเป็นผลจากการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ ความพยายามในการผลักดันกฎหมายปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจำนวนมากของรัฐบาลทรัมป์จะทำให้ฐานะการคลังและหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง ส่งผลกดดันต่อเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ โดย Moody’s จะยังส่งผลกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์และการปรับเพิ่มขึ้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไปอีกระยะหนึ่ง คาดการณ์ว่า ตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนของไทยจะยังขยายตัวเป็นบวก และดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลต่อเนื่อง ประกอบกับการมีเงินทุนระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะชะลอตัวลงก็ตาม