ครม. ไฟเขียว! กฎหมาย “หลักทรัพย์ดิจิทัล” ดันตลาดทุนไทยเข้าสู่ยุคใหม่เต็มรูปแบบ

ครม. เห็นชอบร่าง “พ.ร.บ.หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์” หวังปฏิวัติธุรกรรมตลาดทุนไทยสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เร่งจัดทำกฎหมายลำดับรอง รองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 100% ครอบคลุม การออก-โอน-ค้ำประกัน “ตราสารหนี้-ตราสารทุน-หน่วยลงทุน” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หนุนสภาพคล่อง ลดต้นทุน เปิดทางแข่งขันด้วยนวัตกรรมใหม่ในตลาดทุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 มิ.ย.68) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ

สาระสำคัญเป็นการรองรับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดทุน สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ รวม 6 ประเด็น คือ

  1. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน
  2. แก้ไขเพิ่มเติมการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีความสอดคล้องกันและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
  3. เพิ่มการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการ การประกอบวิชาชีพ หรือการให้บริการตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  4. เพิ่มบทบัญญัติโทษปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
  5. เพิ่มมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่
  6. เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนในความผิดบางประเภท

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอให้แยกร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ออกมาเป็นกฎหมายแยกต่างหาก เพื่อให้ใช้บังคับได้ก่อน ซึ่งจะสามารถรองรับการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ในการออกผลิตภัณฑ์และการทำธุรกรรมในตลาดทุนได้ รวมทั้งจะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรมในตลาดทุนได้มากยิ่ง

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการสร้างรากฐานสำคัญเพื่อผลักดันตลาดทุนไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยสาระสำคัญของกฎหมายคือ การให้หลักทรัพย์ เช่น ตราสารทุน หน่วยลงทุน และตราสารหนี้ สามารถดำเนินการในรูปแบบดิจิทัลได้ 100% ตั้งแต่ขั้นตอนการออก จนถึงขั้นตอนสุดท้าย เช่น การบันทึกข้อมูล การโอน และการนำไปค้ำประกัน

ซึ่งจะต่างจากระบบเดิมที่ใช้ Scripless เป็นการใช้กลไกอัตโนมัติแต่ยังมีอุปสรรค เช่น ผู้ที่ยังต้องการเอกสารฉบับกระดาษก็สามารถยื่นคำขอได้ตามขั้นตอน แต่หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ตัวนี้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปต้องไปผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อออกมาเป็นกฎหมายได้ ประกาศลำดับรองของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อรองรับหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์จะไปเอื้อให้ เช่น ตราสารหนี้ตั้งแต่เกิดมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นฉบับได้เลย ประโยชน์คือ การเข้าถึงของประชาชนรายย่อย ไปจนถึงการโอนเปลี่ยนมือในตลาดรองก็จะสร้างสภาพคล่องได้ การหมุนเปลี่ยนลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจ

นางพรอนงค์ เชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของตลาดทุน เป็นกฎหมายที่ตลาดทุนรอคอย เมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่านจะทำให้เห็นหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล 100 เปอร์เซ็นต์

“ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ร่วมกับกระทรวงการคลัง อยากให้กฎหมายผ่านสภาฯ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในระบบนิเวศน์ (ecosystem) ทั้งนักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

พ.ร.บ.หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการพลิกโฉมตลาดทุนไทยครั้งสำคัญ โดยเปิดทางให้ธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์สามารถดำเนินการในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่การออกหลักทรัพย์ การโอน และการใช้เป็นหลักประกัน ลดอุปสรรคและต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้เล่น (players) และเอื้อต่อการแข่งขันและนวัตกรรมใหม่ในตลาดทุนไทย

Back to top button