“พิชัย” ชู 4 วิสัยทัศน์ ปฏิรูปตลาดทุนไทยในวาระ 50 ปี มุ่งฟื้นศรัทธา-ปลดล็อกกฎเกณฑ์

นายพิชัย ชุณหวชิร ฉายภาพอนาคตตลาดทุนไทยวาระครบรอบ 50 ปี พร้อมเสนอ 4 วิสัยทัศน์สำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ฟื้นศรัทธานักลงทุน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อผู้ลงทุน สร้างระบบตลาดทุนที่ยั่งยืน


นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษภายในงาน “Legacy & Future: 50 Years of Thai Capital Market” เนื่องในโอกาสครบรอบการดำเนินงาน 50 ปี ความว่า ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่และพัฒนาองค์กรมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเสาหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในวันนี้

หากจำไม่ผิดตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ด้วยบริษัทจดทะเบียนเพียง 8 แห่ง และปัจจุบันได้ขยายตัวมากกว่า 800 บริษัท ซึ่งถือเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

นายพิชัย กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาผมได้ทำงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ทั้งช่วงวิกฤตหลายครั้ง โดยบทบาทของผมในขณะนั้นอยู่ในฐานะผู้ระดมทุน สิ่งแรกที่เห็นชัดเจน คือ ประโยชน์ของการระดมทุนเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินทุนระยะยาว ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเติบโตอย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาหลายครั้ง ดัชนีตลาดหุ้นมีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงที่น่าหวั่นใจ จึงเกิดคำถามที่น่าคิดว่า เราจะสามารถหลีกเลี่ยงความผันผวนเหล่านี้ หรือทำอย่างไรให้ผลกระทบต่อระบบน้อยที่สุดได้อย่างไร

“คำตอบคือ การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรผู้ระดมทุน ซึ่งต้องรักษาและปรับตัวให้สอดคล้องกับนวัตกรรมโลก เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสรุปการพัฒนาของผู้ระดมทุนได้นำไปสู่ความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การตอบสนองความต้องการของนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนทั่วไป และประชาชนโดยรวม” นายพิชัย กล่าว

ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขอแสดงมุมมองต่อความคาดหวังต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว วันนี้ เป็นโอกาสอันดีที่เราจะมองไปข้างหน้า ไม่ใช่เพียง 50 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่ไปไกลถึง 100 ปีนับจากวันก่อตั้ง

สิ่งที่อยากเห็น คือ การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพัฒนาและฟื้นฟูความเชื่อมั่น (Trust and Confidence) ให้กลับมาอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ตลาดทุนจำเป็นต้องเป็นกลไกที่มั่นคงเชื่อถือได้ และพร้อมจะเป็นที่พึ่งของทั้งผู้ระดมทุนและนักลงทุน

ทั้งนี้ มองว่าหน้าที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต จึงครอบคลุมหลายด้าน ได้แก่

1.การส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.การพัฒนาเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

3.การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการเข้าถึงตลาดของทุกภาคส่วน

ที่สำคัญที่สุดคือ 4.การปรับปรุงกฎระเบียบหรือเกณฑ์ต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน โดยต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมและยุติธรรมระหว่างผู้ระดมทุน นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย และประชาชนทั่วไป ทั้งหมดนี้คือภารกิจสำคัญที่ ต้องร่วมกันผลักดัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นั่นคือ การสร้างโอกาสและทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกที่หลากหลายให้กับนักลงทุนในทุกระดับ ทั้งยังมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของข้อมูลที่เพียงพอ มีความมั่นใจในการตัดสินใจ และสามารถได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและยั่งยืนในระยะยาว

Back to top button