
CardX เปิด 5 กลโกง “มิจฉาชีพ” ยุคใหม่ แนะฟีเจอร์สกัดภัยไซเบอร์เรียลไทม์
CardX เผยคนไทยเสียหายเฉลี่ยรายละ 91,500 บาทจากภัยออนไลน์ ชี้ 5 กลโกง-5 วิธีแอบอ้าง พร้อมแนะฟีเจอร์ใหม่ในแอปฯ ป้องกันภัยไซเบอร์แบบเรียลไทม์
บริษัท คาร์ดเอกซ์ จำกัด (CardX) ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและบริการทางการเงินในเครือกลุ่มเอสซีบีเอกซ์ (SCBX) เปิดเผยสถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ในปี 2568 ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับผู้บริโภคชาวไทย โดยแม้จำนวนเคสจะลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่กลับพบว่ามูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อรายเพิ่มสูงขึ้น จาก 83,800 บาทในปี 2567 เป็น 91,500 บาทในปี 2568 เพิ่มขึ้น 9% สะท้อนให้เห็นแนวโน้มมิจฉาชีพมุ่งโจมตีเหยื่อเป้าหมายที่มีศักยภาพทางการเงินมากขึ้น
จากข้อมูลที่ CardX รวบรวมพบว่า กลโกงที่พบมากที่สุดยังคงเป็นการหลอกซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ คิดเป็น 57% ของเคสทั้งหมด โดยมิจฉาชีพมักใช้โซเชียลมีเดียสร้างเพจปลอมและเสนอราคาถูกกว่าปกติเพื่อจูงใจเหยื่อให้โอนเงิน รองลงมาคือการหลอกให้โอนเงินรับรางวัล (13%) หลอกให้สมัครงานและเรียกเก็บค่าสมัคร (11%) หลอกให้กู้เงินโดยเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า (7%) และการชักชวนลงทุนโดยอ้างชื่อบุคคลหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ (6%)
นอกจากนี้ CardX ยังสรุป 5 วิธีการแอบอ้างยอดฮิตที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางในปีนี้ ได้แก่
1.การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อข่มขู่ให้โอนเงิน
2.การปลอมตัวเป็นผู้แนะนำการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ แอป หรือบัญชีปลอม
3.การอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าพร้อมขู่ว่าจะตัดไฟ
4.การปลอมเป็นบริษัทขนส่ง ส่งลิงก์ปลอมให้คลิกยืนยันข้อมูล
5.การแอบอ้างเป็นกรมที่ดิน แจ้งเอกสารสิทธิ์มีปัญหาและเรียกเงิน
ขณะเดียวกัน การฉ้อโกงผ่านข้อมูลบัตรเครดิตยังคงพบในหลายรูปแบบ เช่น การ Skimming, การหลอกลวงผ่าน SMS และอีเมล Phishing, การแฮ็กข้อมูลผ่าน Wi-Fi สาธารณะ และการโทรศัพท์หลอกขอ OTP เพื่อเข้าถึงบัญชีผู้ใช้งาน
ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ CardX ได้พัฒนาฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยในแอปพลิเคชัน อาทิ การล็อกวงเงินบัตรชั่วคราว, การแจ้งเตือนการใช้จ่ายแบบเรียลไทม์ และการตั้งเพดานการใช้จ่ายต่อวัน ช่วยให้ผู้ถือบัตรควบคุมและตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา
CardX ยังเน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนตัว อย่าหลงเชื่อข้อความหรือสายโทรศัพท์ที่เร่งรัด โดยเฉพาะหากอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือธนาคาร ซึ่งไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางดังกล่าว ทั้งนี้ การมีสติและการรู้เท่าทันคือเกราะป้องกันที่ดีที่สุดในการรับมือกับภัยไซเบอร์ในยุคปัจจุบัน