
“พิชัย” บินกลับไทย รับดีล “ภาษีสหรัฐ” ยังไม่จบ เตรียมยื่นข้อเสนอใหม่
“พิชัย ชุณหวชิร” เผยผลการเจรจาภาษีศุลกากรตอบโต้กับสหรัฐฯ ได้รับฟีดแบ็กจากหลายภาคส่วน เตรียมกลับมาปรับข้อเสนอใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ก.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้าและภาษีกับสหรัฐอเมริกา หรือ “ทีมไทยแลนด์” โพสต์คลิปวิดีโอ ความยาว 4.19 นาที ชมคลิปคลิกที่นี่
นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากได้ประชุมกับหลาย ๆ ฝ่ายตลอดเวลาที่อยู่ในสหรัฐฯ และเมื่อประชุมสุดท้ายเสร็จ ตนและคณะได้เดินทางไปยังสนามบินทันที จึงไม่สามารถรายงานได้ในทันทีเพราะอยู่บนเครื่องบิน โดยขอสรุปผลการเจรจาภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับสหรัฐฯ ดังนี้
การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ ทีมไทยแลนด์ได้พบทั้งภาครัฐซึ่งเป็นระดับนโยบาย ภาคเอกชนที่ลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง และภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมาก การพบกับทั้ง 3 กลุ่มหลักช่วยให้ทีมเจรจาไทยได้ข้อมูลเชิงลึกจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งสามารถสะท้อนถึงระดับนโยบายที่จะตัดสินใจ หรือ Policy Maker ซึ่งคาดว่าจะนำปัจจัยเหล่านี้ไปพิจารณาร่วมด้วย
ในการเจรจาระดับนโยบาย นายพิชัยได้เข้าพบนายจามีสัน กรีเออร์ (Mr. Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative: USTR) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ
“ในการพบกันครั้งนี้ เราได้รับฟีดแบ็กที่สำคัญมากว่า สหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในประเทศไทยในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย การพูดคุยยังช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดของผู้บริหารระดับสูงว่าลึก ๆ แล้วพวกเขาต้องการอะไรเพิ่มเติมจากที่แสดงออก เพื่อจะนำไปประกอบการทำงานและเจรจาทางเทคนิคต่อไป” นายพิชัย กล่าว
“จากการเจรจาวันนี้ ผมคิดว่าเป็นไปด้วยดี ทางสหรัฐฯ เองก็กล่าวขอบคุณที่ไทยมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วม เราเองก็ยืนยันว่าจะนำฟีดแบ็กที่ได้กลับไปจัดทำข้อเสนอใหม่เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย”
นายพิชัย ย้ำว่า จุดยืนของคณะทำงานไทย คือ การเจรจาต้องนำไปสู่ข้อตกลงที่สามารถปฏิบัติได้จริง มีความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ หรือ “win-win solution” แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปสุดท้ายในขณะนี้ แต่ทีมไทยแลนด์จะเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง
“ทั้งผมและคณะทำงานจะต้องทำงานกันให้หนักมากขึ้น เพื่อปรับเงื่อนไขให้เกิดความชัดเจน และเข้าใจร่วมกันว่าเป็นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว” หัวหน้าคณะทีมไทยแลนด์ ทิ้งท้าย
วันที่ 2 เมษายน 2568 หรือที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกว่า “Liberation Day” ได้มีการประกาศอัตราภาษีฐานใหม่ 10% สำหรับสินค้าทุกประเทศที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ พร้อมเผย อัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ กำหนดภาษีตอบโต้ไว้สูงถึง 36% และเริ่มเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้ให้ระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน เพื่อเปิดทางเจรจา โดยกำหนดเส้นตายไว้ที่ 9 กรกฎาคมนี้
ข้อมูลปี 2567 ระบุว่า ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่าราว 55 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยเพียง 17–18 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นดุลการค้าที่ไม่สมดุลในมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ
ล่าสุด สหรัฐฯ ได้ส่ง จดหมายอย่างเป็นทางการถึงกว่า 100 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อแจ้งอัตราภาษีเฉพาะรายที่อยู่ในช่วง 10–70% หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 9 กรกฎาคม ภาษีดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
- สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าหลักมาไทย มูลค่าเกือบ 18 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าหลักคือ น้ำมันดิบ เซมิคอนดักเตอร์ และก๊าซปิโตรเลียม
- กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ก็มีสัดส่วนไม่น้อย ราว 1.2 พันล้าน ในปี 2566
- สหรัฐฯ ยังส่งสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยานยนต์ (รวมถึงชิ้นส่วน), LNG และอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อช่วยลดดุลการค้าเชิงลบของไทย
อ้างอิงข้อมูล Impact of Trump’s 2025 Tariff Policies on Thailand’s Economy