BTS-BEM วิ่งรับข่าว “ครม.” เคาะรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่ม 1 ต.ค. นี้

BTS-BEM วิ่งรับข่าว ครม. เคาะมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมลงทะเบียนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” เดือน ส.ค. ก่อนเปิดบริการจริง 1 ต.ค. นี้ ครอบคลุม 13 เส้นทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑล


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (8 ก.ค.68) ราคาหุ้นกลุ่มรถไฟฟ้าปรับตัวขึ้นยกแผง ณ เวลา 14:40 น. นำโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS อยู่ที่ระดับ 3.48 บาท บวก 0.06 บาท หรือ 1.75% สูงสุดที่ระดับ 3.52 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.34 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 300.58 ล้านบาท

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อยู่ที่ระดับ 4.78 บาท บวก 0.12 บาท หรือ 2.58% สูงสุดที่ระดับ 4.80 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.58 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 166.55 ล้านบาท

สืบเนื่องมาจาก นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล

โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง รวมระยะทาง 279.84 กิโลเมตร ครอบคลุม 194 สถานี โดยประชาชนจะต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

ขณะที่ เงื่อนไขการลงทะเบียน เพื่อยืนยันตัวบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อใช้งานผ่านบัตร EMV Contactless เช่น บัตรเครดิต/เดบิต Visa หรือ Mastercard และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่เคยลงทะเบียนไว้)

ระบบจะเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป โดยในอนาคตเตรียมเปิดระบบสแกน QR Code ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้โดยสาร

เงื่อนไขบัตรโดยสารที่ร่วมโครงการ ดังนี้ Rabbit Card ใช้ได้กับสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู EMV Contactless ใช้ได้กับสายสีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) ยังไม่ครอบคลุมสายสีทองและสีเขียว

ด้านแนวทางการชดเชยรายได้จากค่าโดยสาร จะใช้งบจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หรือแหล่งเงินที่เหมาะสม พร้อมประเมินผลประโยชน์จากมาตรการในระยะ 1 ปี ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว 2. ด้านสังคม ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพิ่มคุณภาพชีวิต และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณรวมได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า มาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน แก้ปัญหาจราจร เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และสนับสนุนระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

Back to top button