
AIS คว้าคลื่น 2100 MHz เตรียมจ่ายงวดแรก 7.4 พันลบ. ลุย 5G เต็มสูบ 4 ส.ค.นี้
ADVANC คว้าคลื่น 2100 MHz มูลค่าประมูลสุดท้าย 14,850 ล้านบาท จะแบ่งการชำระทั้งหมด 3 งวด โดยเตรียมพร้อมชำระเงินงวดแรกให้กับ กสทช. วงเงิน 7.4 ล้านบาท ก่อนเริ่มใช้งานวันที่ 4 ส.ค.นี้
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าตามที่บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า บัดนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมรับรองผลการประมูลให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยร้อยละ 99.99 เป็นผู้ชนะการประมูล มีสิทธิได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ รายละเอียดดังนี้
สำหรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2100 MHz ในราคาประมูลสุดท้ายอยู่ที่ 14,850 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แถบย่านความถี่ 1965 MHz – 1980 MHz คู่กับ 2155 MHz – 2170 MHz คิดเป็นแถบความกว้าง 2×15 MHz ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต โดยเริ่มต้นในวันที่ 4 สิงหาคม 2568
โดยการชำระเงินแบ่งเป็นงวด ดังนี้ งวดที่ 1 ชำระร้อยละ 50 ของราคาประมูล ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันเริ่มต้นการ อนุญาตวันที่ 4 สิงหาคม 2568 หรือตามที่ กสทช. จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่น จำนวน 7,425 ล้านบาท งวดที่ 2 ชำระร้อยละ 25 ของราคาประมูล ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 3,712.5 ล้านบาท และงวดที่ 3ชำระร้อยละ 25 ของราคาประมูล เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ ได้รับใบอนุญาต จำนวน 3,712.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 14,850 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ทั้งนี้ ภาระค่าธรรมเนียมรายปีที่ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ในการชำระค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้ 1.)ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 2.)ค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่ 3.)ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม 4.)จัดสรรรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการโทรคมนาคมให้แก่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ 5.)ค่าธรรมเนียมอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ตามที่ กสทช. กำหนด
อีกทั้ง ยังมีเงื่อนไขการอนุญาตที่มีที่ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งานความถี่วิทยุและการประกอบกิจการ โทรคมนาคม ภายใต้ พระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือหลักเกณฑ์ใด ๆ ที่ กสทช. กำหนดอย่างเคร่งครัดโดยต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อประกอบกิจการ ดังนี้
(1) ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนประชากรในแต่ละตำบลภายใน 2 ปีนับแต่วันได้รับอนุญาต
(2) ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนประชากรในแต่ละตำบลภายใน 4 ปีนับแต่วันได้รับอนุญาต
(3) ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 90% ของจำนวนประชากรในแต่ละตำบลภายใน 5 ปีนับแต่วันได้รับอนุญาต
ทั้งยังจัดให้มีบริการโครงข่ายโทรคมนาคม โดยมีขนาดความจุไม่น้อยกว่า 10% ของโครงข่ายโทรคมนาคม แต่ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) และจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรการป้องกันการเกิดอาชญากรรมทาง เทคโนโลยี และมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพให้ AIS สามารถส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีแก่ลูกค้า รวมถึงรองรับการเติบโตด้านการใช้งาน 5G ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ช่วงคลื่นความถี่ที่ได้รับจัดสรรเป็นช่วงความถี่ที่บริษัทใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
ตามสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ(Roaming Agreement) กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทมีอุปกรณ์โครงข่าย 2100 MHz รองรับพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อนำมารวมกับคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ได้รับการจัดสรรมาก่อนหน้าจำนวน 2x15MHz รวมเป็นแถบความกว้างต่อเนื่องกันทั้งหมด 2×30 MHz ทำให้บริษัทสามารถส่งมอบบริการคุณภาพสูงแก่ลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งเพียงพอต่อการบริหารจัดการคลื่นความถี่เพื่อให้บริการในระยะกลางถึงยาว ทั้งนี้ การได้มาซึ่งคลื่นความถี่โทรคมนาคมดังกล่าวและการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับใบอนุญาต จะไม่ส่งผลกระทบต่องบลงทุนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า และยังคงเป็นไปตามประมาณการณ์งบลงทุนโดยรวมที่ 26,000-27,000 ล้านบาท สำหรับปี 2568 รายการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์
อย่างไรก็ตามขนาดรายการไม่เข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่มี นัยสำคัญตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่าย เป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูล และการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547