
“กรมอุทยาน” ผนึกเครือข่าย เปิดแผน 5 ปี สกัดขบวนการ “ค้าสัตว์ป่า” ชายแดน
กรมอุทยาน จับมือเครือข่ายในประเทศ ต่างประเทศวางแผน 5 ปี สกัดการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่า ผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ตั้งเป้ายุติขบวนการภายในปี 71
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (12 ก.ค.68 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมภาคีเครือข่ายทำแผนต่อต้านการล่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายตามแนวชายแดน หวังให้หมดไปภายในปี 2571 ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า ความสูญเสียจากอาชญากรรมสัตว์ป่าและป่าไม้ของประเทศไทยมีประมาณ 91–114 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือเท่ากับประมาณ 3,276–4,104 ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงของชาติ และภาพลักษณ์ของประเทศ
นายอรรถพล กล่าวว่า กรมอุทยานได้จัดตั้ง “ศูนย์ข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า (Wildlife Crime Intelligence Center: WCC)” ขึ้นในปี 2566 เพื่อเป็นกลไกกลางในการบูรณาการข้อมูลข่าวกรองด้านสัตว์ป่า เชื่อมโยงหน่วยงานด้านการข่าว การบังคับใช้กฎหมาย และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยยึดโยงกับคณะกรรมการเครือข่าย Thailand-WEN ซึ่งเป็นกลไกสำคัญระดับชาติเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ และอนุสัญญา CITES
นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยศูนย์ข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า (WCC) ร่วมมือกับคณะกรรมการเครือข่าย Thailand-WEN และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ “แผนปฏิบัติการต่อต้านการล่าและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายตามแนวชายแดน พ.ศ. 2567–2571” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ในการ:ป้องกันการลักลอบล่าสัตว์และการค้า ยกระดับกลไกข่าวกรองและการสืบสวน เสริมสร้างความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ประเทศ แผนดังกล่าวมุ่งหวังให้ ป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าให้หมดไป ภายใต้ความเข้มแข็งของเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแม้ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน แต่มีการบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีผลการดำเนินคดีที่โดดเด่นหลายคดี เช่น
1.) การจับกุมเครือข่ายชาวเวียดนามเข้ามาทำไม้กฤษณาบริเวณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและห้วยขาแข้ง
2.) การทลายเครือข่ายค้าลิงแสมข้ามชาติที่มีนายทุนเป็นผู้ต้องหาชาวกัมพูชา การสกัดจับแก๊งค้าลีเมอร์ – เครือข่ายเต่าดาวจากมาดากัสการ์ ยึดของได้หลายพันชิ้น
3.) การจับกุมชาว อินเดีย 6 คน ฐานลักลอบขน “แพนด้าแดง” และสัตว์ป่ารวม 87 ตัว ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
4.) การจับกุมเครือข่ายไม้พะยูง และเครือข่ายไม้มีค่าที่มีนายทุนชาวจีนอยู่เบื้องหลัง เป็นต้น
ดังนั้นแผนปฏิบัติการต่อต้านการล่าและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายตามแนวชายแดน พ.ศ. 2567–2571” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สัตว์ป่าและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชร่วมกับ WCC และ Thailand-WEN เป็นแม่ข่ายสำคัญที่ยกระดับประเทศไทยจากผู้รับมือ มาเป็น “ผู้นำ” ในการขับเคลื่อนหาแนวทางป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าในภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป