
“ดอลลาร์อ่อนค่า” นักลงทุนจับตาท่าที “เฟด” -แรงกดดันเงินเฟ้อ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของประธานเฟด และสัญญาณเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าอาจเริ่มเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ค. 68) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (18 ก.ค. ที่ผ่านมา) แต่ยังคงปรับตัวขึ้นได้ในรอบสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนจับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ท่ามกลางสัญญาณว่าภาษีนำเข้าอาจเริ่มเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ พร้อมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงวิจารณ์ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.26% แตะที่ระดับ 98.481 ดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 148.77 เยนในวันศุกร์ (18 ก.ค. ที่ผ่านมา) จาก 148.73 เยนในวันพฤหัสบดี (17 ก.ค. ที่ผ่านมา) แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ 0.8017 ฟรังก์ จาก 0.8057 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ 1.3726 ดอลลาร์ จาก 1.3750 ดอลลาร์
อีกทั้ง ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.1622 ดอลลาร์ จาก 1.1584 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อังกฤษขยับขึ้นแตะ 1.3417 ดอลลาร์ จาก 1.3410 ดอลลาร์
รวมถึงข้อมูลเมื่อวันอังคารระบุว่า ราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงขึ้น แม้การเพิ่มขึ้นจะอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนรายงานเงินเฟ้อจากราคาผู้ผลิตเมื่อวันพุธบ่งชี้ว่า ราคาทรงตัวในเดือน มิ.ย.
นายพาวเวล กล่าวว่า เขาคาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้อันเป็นผลจากนโยบายภาษีของทรัมป์ ความเห็นนี้ทำให้นักลงทุนเลื่อนความคาดหวังว่าเฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยออกไปอีก
อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรง แม้จำนวนการจ้างงานโดยรวมและอัตราว่างงานยังคงทรงตัวในระดับที่แข็งแกร่ง
ด้านนักวิเคราะห์ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดกำลังรอดูว่าภาษีจะถูกนำมาใช้จริงหรือเป็นเพียงกลยุทธ์การเจรจา และรอดูว่าตลาดแรงงานจะสะท้อนภาพที่แท้จริงหรือไม่ ขณะที่การเลิกจ้างอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่การจ้างงานใหม่แย่มาก และหากจำนวนการเลิกจ้างพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นมากในเวลาอันสั้น
อีกทั้ง นายคริส วอลเลอร์ ผู้ว่าการเฟดกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เขาสนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. เพราะเชื่อว่าผลกระทบจากภาษีต่อเงินเฟ้อมีจำกัด พร้อมระบุว่าข้อมูลปัจจุบันไม่สะท้อนถึงตลาดแรงงานภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และเฟดควรเร่งดำเนินการล่วงหน้า ก่อนการจ้างงานจะชะลอตัวลง
สำหรับพาวเวลกำลังเผชิญคำวิจารณ์แทบทุกวันจากทรัมป์เกี่ยวกับความลังเลของเฟดในการลดดอกเบี้ย โดยค่าเงินดอลลาร์ร่วงเมื่อวันพุธจากรายงานที่ว่า ทรัมป์เตรียมปลดพาวเวล แต่ฟื้นตัวหลังทรัมป์ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ทั้งนี้ วาระการดำรงตำแหน่งของพาวเวลจะสิ้นสุดในเดือน พ.ค. ปีหน้า
ด้าน นายออสตัน กูลส์บี ประธานเฟดชิคาโก กล่าวว่า เขายังระมัดระวังต่อสัญญาณจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ที่ชี้ว่า ภาษีกำลังกดดันเงินเฟ้อสินค้าจำเป็น แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในเกณฑ์ดี และเฟดสามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้ค่อนข้างมากในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
อีกทั้งยังมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงรวม 0.46% ภายในสิ้นปีนี้ โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะลด 0.25% จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกอาจเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.
อีกทั้ง ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ลดช่วงบวกลงหลังไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ทรัมป์ผลักดันให้มีการเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 15% ถึง 20% ต่อการทำข้อตกลงใด ๆ กับสหภาพยุโรป (EU)
รวมไปถึงเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าเล็กน้อยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐก่อนการเลือกตั้งสภาสูงของญี่ปุ่นในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลมีแนวโน้มเสียเสียงข้างมาก
โดยผลสำรวจระบุว่า พรรครัฐบาลญี่ปุ่นเสี่ยงต่อการสูญเสียงข้างมาก ซึ่งอาจสร้างความไม่แน่นอนด้านนโยบายในประเทศ และทำให้การเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ซับซ้อนขึ้น
ด้าน นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวกับ นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่นว่า ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุ “ข้อตกลงที่ดี” ด้านภาษีได้ โดยเบสเซนต์และอิชิบะพบปะกันที่กรุงโตเกียวในวันศุกร์ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา