
KTC เติมก้านประกัน.!
หลังจากหุ้นบัตรรูดปรื๊ด KTC ก้าวผ่านมรสุมกลเกมหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายมาแบบหืดขึ้นคอ โดยปัจจุบันราคาหุ้นกำลังไต่ระดับไปหาพื้นฐานเดิม...
หลังจากหุ้นบัตรรูดปรื๊ด บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ก้าวผ่านมรสุมกลเกมหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายมาแบบหืดขึ้นคอ โดยปัจจุบันราคาหุ้นกำลังไต่ระดับไปหาพื้นฐานเดิม…ส่วนจะไปถึงหรือเปล่า..?? หรือจะไปถึงตอนกี่โมง..?? อันนี้มิอาจทราบได้
แต่ช็อตต่อมาที่หลายคนเฝ้าจับตาคงหนีไม่พ้นงบไตรมาส 2/2568 ว่าจะดีตามที่คาดการณ์ไว้อ๊ะป่าว..??
ล่าสุด KTC ประกาศงบออกมาแล้ว โชว์กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,826 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2568 อยู่ที่ 3,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,629 ล้านบาท
โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมตามการขยายตัวของพอร์ต และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร
ต้องบอกว่า งบ KTC ไม่ได้แย่นะ แต่ก็ไม่ได้ดีเด่อะไร…ตัวเลขออกมาตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้แหละ…
แต่มุมหนึ่งก็ตอกย้ำว่า อัตราการเติบโตเริ่มจำกัดจำเขี่ย หรือถดถอยลง จากเดิมหุ้นในกลุ่มนี้จะโตระเบิดระเบ้อ ปีหนึ่ง ๆ โตไม่ต่ำกว่า 30% และจัดเป็นหุ้น Growth Stock หรือหุ้นเติบโต…แต่ตอนนี้นิยามหุ้น Growth Stock อาจใช้ไม่ได้กับ KTC อีกต่อไป..!?
คำถามที่ตามมา แล้ว KTC จะสร้างการเติบโต หรือ Growth ยังไงละเนี่ย..??
เลยเป็นที่มาของการแก้ไขวัตถุประสงค์การจัดตั้งของบริษัทฯ ให้สามารถ “เข้าลงทุนด้วยการประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าประกันชีวิต และนายหน้าประกันวินาศภัย” โดยจะชงให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเคาะในวันที่ 25 ส.ค. 2568 นี้
ถือเป็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจนะ…เนื่องจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ไม่จะเป็นนายหน้าประกันชีวิตหรือนายหน้าประภันวินาศภัย จะเป็นแค่ตัวกลางระหว่างผู้ซื้อประกันภัย กับบริษัทประกันภัยเท่านั้น โดยจะมีรายได้ในรูปของค่าคอมมิชชั่นที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัย
ซึ่งข้อดีของธุรกิจนี้ จะรับเงินจากลูกค้ามาก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินให้กับบริษัทประกันภัยทีหลัง ทำให้มีเงินสดเข้ามาไม่ขาดมือ ขณะที่การเคลมกรมธรรม์ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นภาระของบริษัทประกันภัยที่เป็นผู้รับความเสี่ยง ไม่เกี่ยวกับนายหน้าประกันภัย
อีกทั้งนายหน้าประกันภัยหนึ่งราย สามารถเป็นตัวแทนเสนอขายประกันภัยให้กับหลายบริษัทได้ ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบริษัทประกันรายใดรายหนึ่ง
ในขณะที่ KTC มีข้อได้เปรียบตรงที่มีฐานลูกค้าบัตรเครดิตอยู่ในมือราว 3.5 ล้านบัญชี ซึ่งจะเป็นสารตั้งต้นในการเสนอขายประกันภัย อีกทั้งสามารถใช้ทรัพยากรและองคาพยพของบัตรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสาขา และพนักงานที่จะอัพสกิลเพื่อให้ได้ไลเซนส์ในการเป็นนายหน้าขายประกันภัย เป็นต้น
เอาเป็นว่าด้วยระบบนิเวศของ KTC สามารถเอื้อให้เข้าสู่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยได้ไม่ยาก ซึ่งดูไปแล้วธุรกิจนี้มาร์จิ้นน่าจะดีอยู่หนา เพราะต้นทุนไม่เยอะ…
แต่อย่าคิดว่าจะหวานหมูนะ เพราะถ้าไปสำรวจในตลาดมีหลายเจ้าทำอยู่ก่อนแล้ว ที่เป็นเจ้าใหญ่คงหนีไม่พ้นสองแม่ลูก บริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) หรือ TQM และบริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TQR ที่อยู่ในตลาดนี้มานาน แล้วไหนจะมีบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH, บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ที่หันมาบุกธุรกิจนี้มากขึ้น
ไม่รวมที่ยังไม่เอ่ยนาม ซึ่งมีอีกหลายเจ้า…
ก็ถือเป็นความท้าทายของ KTC ในการเติมก้านประกันภัย ว่าจะหยิบฉวยโอกาสได้มากน้อยแค่ไหน..?? ท่ามกลางนายหน้าประกันภัยที่แข่งกันดุ
เอาใจช่วยนะคะ “บอสพิทยา วรปัญญาสกุล”…
…อิ อิ อิ…