
ครม.เคาะเปรี้ยง! ตั้ง “วิทัย รัตนากร” นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่
“ครม.” เห็นชอบแต่งตั้ง “วิทัย รัตนากร” ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ แทน “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 30 ก.ย. 2568 โดยมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจาก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 30 กันยายน 2568 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ อ้างถึงเรื่องเดิมที่ คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 กรกฎาคม 2563 ) เห็นชอบแต่งตั้ง นายเศรษฐพุฒิ
สุทธิวาทนฤพุฒิ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่างโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายเศรษฐพุฒิ ฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2563
นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตร ได้ให้ความเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พิจารณาเสนอแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินธนาคาร และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติ
ดังนั้น จึงเห็นควร เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ขอให้สำนักงานองคมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
ทั้งนี้ นายวิทัย รัตนากร อายุ 54 ปี เป็นบุตรชายของศาสตราจารย์พิเศษโสภณ รัตนากร อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและอดีตประธานศาลฎีกา ในยุครัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และนางสิริลักษณ์ รัตนากร อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี 2525–2528 ซึ่งถือเป็นผู้บริหารหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย
สำหรับประวัติการศึกษา นายวิทัยสำเร็จปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษาระดับปริญญาโทถึงสามใบ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์การเมือง และกฎหมายธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการเงินจาก Drexel University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในแวดวงอาชีพ เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในบทบาทผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมกันนี้ยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ในวงการเศรษฐกิจและการเงิน อาทิ นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ อุปนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
รวมถึงกรรมการและประธานกรรมการบริหารในบริษัทเอกชน เช่น ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด อีกทั้งยังเป็นกรรมการฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผลักดันให้ธนาคารออมสินก้าวสู่บทบาท “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank อย่างแท้จริง โดยล่าสุดจากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ธนาคารออมสินระบุว่า สามารถสร้าง Social Impact หรือผลกระทบเชิงบวก ช่วยเหลือคนไทยกว่า 13 ล้านคน ครอบคลุม 18.8 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และสร้างผลกำไรนำส่งรัฐแล้วกว่า 96,000 ล้านบาท
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย นายวิทัย เคยแสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันขาดความสมดุล ฝั่งสถาบันการเงินแข็งแกร่งและมีกำไรสูง ขณะที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญหนี้สิน การปิดกิจการ และปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำในระดับสูง โดยเขามองว่าการแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยมาตรการแบบแพ็กเกจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมหลายด้าน ไม่สามารถพึ่งการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวได้