
เปิด 20 บจ. ยอดวางบัญชีมาร์จิ้นคงค้าง มิ.ย. ลดลง! SPALI-KTC-BEC วูบกว่า 10%
ตลท.เผยยอดวางบัญชีมาร์จิ้นคงค้างเดือนมิถุนายนลดลงกว่า 20% เหลือเพียง 850 บริษัท จาก 1,065 บริษัทในเดือนก่อนหน้า ขณะที่หุ้น “SPALI-KTC-BEC” ลดวูบกว่า 10% สะท้อนแรงขายบังคับและความผันผวนในตลาดทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยรายงานสรุปข้อมูลหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น ประจำเดือนสิ้นสุดวันที่ 27 มิถุนายน 2568 โดยพบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่วางหลักทรัพย์ในบัญชีมาร์จิ้นจำนวนทั้งสิ้น 850 บริษัท ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่วางบัญชีมาร์จิ้นอยู่ที่ 1,065 บริษัท ถือเป็นการลดลงกว่า 20% ภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว สะท้อนสัญญาณชัดเจนของความระมัดระวังในการลงทุน ท่ามกลางภาวะตลาดที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
เมื่อเจาะลึกในรายละเอียด “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” คัดมา 20 อันดับแรก พบว่าหลายบริษัทที่เคยมีอัตราการวางหลักทรัพย์ในบัญชีมาร์จิ้นในระดับสูง ต่างมีการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่น บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2568 มีจำนวนหลักทรัพย์ที่ถูกวางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ที่ 137.90 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 19.81 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด แต่ในเดือนมิถุนายน 2568 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 118.55 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.07 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว ส่งผลให้สัดส่วนการวางประกันปรับลดลงถึง 13.74% เมื่อเทียบรายเดือน
ขณะที่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2568 มีจำนวนหลักทรัพย์ที่ถูกวางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ที่ 420.20 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 16.30 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2568ตัวเลขดังกล่าวปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเพียง 90.48 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.51 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว ส่งผลให้สัดส่วนการวางหลักประกันลดลงถึง 12.79% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ การลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนหุ้นที่วางเป็นประกัน สืบเนื่องมาจากกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้นำหุ้นบางส่วนมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในบัญชีมาร์จิ้น และภายหลังจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับราคาต่ำสุดตามเพดานที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ส่งผลให้เกิดการบังคับขายหุ้น (forced sell) เพื่อชำระหนี้มาร์จิ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ปริมาณหุ้นที่อยู่ในระบบมาร์จิ้นของ KTC ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว
เช่นเดียวกับ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชาน) หรือ BEC ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2568 มีจำนวนหลักทรัพย์ที่ถูกวางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ที่ 320.47 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 16.02 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2568ตัวเลขดังกล่าวปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือ 88.61ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.43 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว ส่งผลให้สัดส่วนการวางหลักประกันลดลง 11.59% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
โดยปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดจากภาวะความผันผวนของราคาหุ้น BEC ซึ่งได้รับผลกระทบจากแรงเทขายในตลาด รวมถึงกรณีที่มีการใช้หุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในบัญชีมาร์จิ้น และภายหลังราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนแตะระดับต่ำสุดที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ส่งผลให้เกิดการบังคับขาย (forced sell) เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงของบัญชี ส่งผลให้จำนวนหุ้นที่อยู่ในระบบมาร์จิ้นลดลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน
บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2568 มีจำนวนหลักทรัพย์ที่ถูกวางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ที่ 847.67 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 11.33 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2568ตัวเลขดังกล่าวปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือ 148.05 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.98 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว ส่งผลให้สัดส่วนการวางหลักประกันลดลงถึง 9.35% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะ KTC, BEC เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับหุ้นหลายตัวในตลาดที่มีสัดส่วนการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในระดับสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบมาร์จิ้นในช่วงที่ตลาดอยู่ภายใต้ภาวะกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่ง เช่น BCPG, SAMART และกลุ่มหุ้นขนาดกลางอื่น ๆ ต่างมีทิศทางการลดลงของปริมาณหุ้นที่วางเป็นมาร์จิ้นในลักษณะเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการปรับพอร์ตลงทุนอย่างเร่งด่วนของนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยในภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นในวงกว้างในระบบการลงทุนผ่านบัญชีมาร์จิ้น อันเป็นผลมาจากสภาพตลาดที่ผันผวน และระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางในระบบการใช้มาร์จิ้นในตลาดทุนไทย ซึ่งหากราคาหุ้นมีความผันผวนสูงอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อสภาพคล่องในระบบ และทำให้เกิดแรงขายที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทโดยตรง แต่เป็นผลมาจากกลไกของตลาดในภาวะบีบคั้น