
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 14 มี.ค.59
– ช่วงเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.61 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 113.84/97 เยน/ดอลลาร์
– ส่วนเงินยูโร ช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1123 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1150 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,394.27 เพิ่มขึ้น 0.86 จุด (0.06%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 47,849 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 2,106.50 ล้านบาท (SET+MAI)
– นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ Dr. Zeti Akhtar Aziz ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) ได้ร่วมลงนามในเอกสารแสดงความประสงค์เข้าร่วมการเจรจาทวิภาคีเพื่อจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างไทยและมาเลเซีย ณ ธนาคารกลางแห่งมาเลเซีย
โดยการเจรจาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์อาเซียนเข้าสู่ตลาดระหว่างกันได้บนหลักการต่างตอบแทน และให้มีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น
– นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนมี.ค.นี้ ในหลักการจะมีการปรับลดในส่วนอัตราภาษีลง ขณะที่ปรับค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายใหม่ทั้งหมด โดยภาพรวมการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ทุกคนจะเสียภาษีลดลง ส่วนค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายจะปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เชื่อว่าทุกคนจะสามารถรับได้
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ก.พ. 59 ลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง มาที่ 44.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จาก 45.0 ในเดือนม.ค. 59 ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ในผลสำรวจฯ รอบนี้ มีมุมมองในด้านลบมากขึ้นต่อภาวะตึงตัวระหว่างสภาพคล่องในกระเป๋ากับภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย และเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับเงินเฟ้อ แต่ครัวเรือนหลายส่วนเริ่มกลับมามีความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้าอีกครั้ง หลังจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและน้ำมันขายปลีกบางชนิด อาทิ ดีเซลเริ่มขยับขึ้น
– สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 ม.ค.59 มีจำนวน 5,980,660.67 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.06 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP)
– ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มต้นการประชุมนโยบายการเงินระยะเวลา 2 วัน ในวันนี้ โดย BOJ มีเป้าหมายที่จะประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา