คิดได้ไง! สนข.จ่อชงกฏหมายคุมรถส่วนตัวเข้ากทม.

สนข.จ่อเสนอมาตรการคุมรถส่วนตัว จัดโซนนิ่งเก็บเงินรถเข้าเมือง กำหนดการใช้รถวันคู่-วันคี่ตามเลขทะเบียน หวังลดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (13 กันยายน 2559) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ โดยระบุว่า ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ นั้นเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็นเท่านั้น ซึ่ง สนข. ได้วางกรอบการแก้ปัญหาไว้ 3 ระยะ ตามที่เตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคม ดังนี้

1. ระยะสั้นทำได้ทันที เช่น เข้มงวดให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎจราจรมากขึ้น ห้ามจอดรถบนถนน ห้ามฝ่าฝืนสัญญาณจราจร เพราะหากประชาชนมีวินัยจะช่วยแก้ปัญหารถติดได้ถึงครึ่ง และตำรวจต้องทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ หรือเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เช่น การยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ในกรณีทำผิดในข้อหาหนัก เพิ่มเติมจากการเสียค่าปรับตามปกติ

2. ระยะกลาง ใช้เวลา 1-2 ปี เช่น มาตรการจัดการจราจรบนถนนสายหลักตามปริมาณรถ เช่น จัดรีเวิสซิเบิ้ลเลนหรือให้รถสวนกระแส ยกตัวอย่างถนน 6 ช่องจราจร ช่วงเช้ารถเข้าเมืองมีปริมาณสูงก็ให้เปิด 4 ช่อง โดยมีการจัดเลนเดินรถสวนช่องขาออกเมือง 1 ช่องจราจร ซึ่ง สนข. จะพิจารณารายละเอียดของถนนที่ต้องปรับการจราจรใหม่ ขณะนี้ดำเนินการบางเส้นทางเท่านั้น โดยต้องปรับการจราจรทั้งระบบและต้องหารือตำรวจจราจรถึงความเหมาะสม ต้องติดสัญญาณไฟและป้ายสัญญาณต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มช่องบัสเลน (ช่องรถเมล์) บนถนนสายหลักให้มากขึ้น เพื่อให้รถเมล์ไปได้เร็ว หากรถส่วนตัวเข้าใช้ช่องบัสเลนต้องถูกจับปรับ 

3. ระยะยาว 5-6 ปี โดยจะรอให้รถไฟฟ้าตามแผนแม่บท 10 สายแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ส่วนมาตรการควบคุมปริมาณรถส่วนตัวนั้นอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบซึ่งกำหนดไว้ 2 วิธี คือ

– การกำหนดโซนนิ่งเก็บเงินรถเข้าเมือง ในถนนที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น หากจะเข้าต้องเสียเงินในอัตราสูง มีด่านเก็บเงินคล้ายๆ กับการขึ้นทางด่วน   

– การกำหนดวันใช้รถด้วยเลขทะเบียนรถวันคู่หรือวันคี่ หากตรงกับวันคี่ให้รถยนต์ที่มีเลขทะเบียนวันคี่ใช้ รถเลขคู่ห้ามใช้ ส่วนวันคู่ เลขทะเบียนวันคู่ใช้ได้ ทำให้รถแต่ละคันสามารถใช้บนท้องถนนได้เพียงเดือนละ 15 วัน ช่วยให้รถหายไปจากท้องถนนถึง 50% พร้อมหาแนวทางลดผลกระทบหรือผ่อนปรนกับประชาชนบางกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว อาทิ ผู้ป่วยที่ต้องไปพบแพทย์ รวมทั้งผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนพิการ ควบคู่กับการพิจารณามาตรการอื่นๆ

Back to top button