CWT ตั้งเป้า PPA ในมือไม่ต่ำกว่า 60 MW ก่อนดัน CWTG เข้า mai กลางปี 61

CWT ตั้งเป้า PPA ในมือไม่ต่ำกว่า 60 MW ก่อนดัน CWTG เข้า mai กลางปี 61


นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้ารุกธุรกิจพลังงานตั้งเป้าหมายจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือไม่ต่ำกว่า 60 เมกะวัตต์ ก่อนผลักดันบริษัท ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด (CWTG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงกลางปี 61 โดยล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โรง กำลังผลิตแห่งละ 9.5 เมกะวัตต์ (MW) คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 800-900 ล้านบาทต่อโครงการ

CWTG ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งในธุรกิจพลังงานจะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 13 เมกะวัตต์ และมี PPA ในมือไม่ต่ำกว่า 60 เมกะวัตต์ในช่วงก่อนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนใน mai กลางปี 61 จากปัจจุบันที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือจากโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในแผน ได้แก่ 1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ ในจ.สระแก้ว  ซึ่งอยู่ระหว่างรอเสนอประมูลงาน 2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ภาคเหนือ 1 แห่ง ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า 3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ภาคกลาง 2 อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า  4.โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ ในจ.พระนครศรีอยุธยา  อยู่ระหว่างรอผลประกาศผลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้

5.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะภาคเหนือ 2 กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า และ 6.โรงไฟฟ้าขยะภาคกลาง 1 ขนาดกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอยื่นเสนอขายไฟฟ้า โดยทั้งหมดจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ไม่เกินปลายปี 62

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทจะมี PPA ในมือจำนวน 5 เมกะวัตต์ หลังจากที่วันนี้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท บลู โซลาร์ฟาร์ม 3 จำกัด (BSF3) เพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49% โดย BSF3) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ขนาด 5 เมกะวัตต์ ที่ได้PPA แล้ว โดยโครงการตั้งอยู่ในจ.สมุทรสาคร  ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบริษัทอยู่ในระหว่างเข้าทำการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ หรือ Due Diligence โครงการดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อหุ้นของ BSF3 ได้ภายในเดือนต.ค.59  ขณะที่โครงการจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในเดือนธ.ค.59

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 3 โครงการ กำลังการผลิตโครงการละ 9.5 เมกะวัตต์ มีมูลค่าลงทุนราว 800-900 ล้านบาท/โครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 6 เดือนจะได้ข้อสรุปการเข้าซื้อกิจการ

“ต่อไปเราจะให้ความสำคัญกับการขยายกิจการเกี่ยวกับพลังงานมากขึ้น ซึ่งเราเน้นโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และชีวมวล ที่เรามีความชำนาญ โดยเบื้องต้นเราจะเน้นการขยายในประเทศก่อนและในหลังจากปี 62 จะเริ่มมองหาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น  โดยมองในกลุ่มประเทศ CLMV เป็นหลัก “นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนจะมาจากการเพิ่มแบบเฉพาะเจาะจง (PP) เป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ขอที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้ 450 ล้านหุ้น และได้เสนอขายไปแล้ว 200 ล้านหุ้น ส่วนที่เหลือ 250 ล้านหุ้น ซึ่งระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับขั้นตอนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยบริษัทให้คำมั่นสัญญาว่าจะเสนอขายหุ้น PP ในราคาที่สูงกว่าราคาในกระดาน

สำหรับผลประกอบการปีนี้บริษัทมั่นใจรายได้และกำไรปีนี้จะทำได้สูงกว่าปีก่อน โดยเฉพาะรายได้รวมคาดว่าจะเกินกว่า 1,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,388 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการขายผลิตภัณฑ์เบาะรถยนต์ และยังเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจส่งออกชิ้นไม้สับเข้ามาด้วย

ส่วนกำไรสุทธิที่คาดว่าจะออกมาสูงกว่าระดับ 43.31 ล้านบาทในปีก่อน เป็นไปตามยอดขายที่ดีขึ้น และบริษัทตั้งเป้าผลักดันอัตรากำไรสุทธิให้สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3.12% โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีอัตรากำไรสุทธิแล้ว 4.67% และทั้งปีก็น่าจะเกินกว่า 5% เนื่องจากมีการบริหารจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารต้นทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตได้ดี

Back to top button