
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 ก.พ.60
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น เมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) โดยดาวโจนส์เดินหน้าทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดติดต่อกัน 8 วันทำการ เพราะได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มค้าปลีก หลังจากบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงวอล-มาร์ทและเมซี่ เปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่า มาตรการปรับลดอัตราภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายผู้บริโภค
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,743.00 จุด พุ่งขึ้น 118.95 จุด หรือ +0.58% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,865.95 จุด เพิ่มขึ้น 27.37 จุด หรือ +0.47% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,365.38 จุด เพิ่มขึ้น 14.22 จุด หรือ +0.60%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก เมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) หลังจากมีรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี โดยข้อมูลดังกล่าวได้ช่วยสกัดปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นเอชเอสบีซี
ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.6% ปิดที่ 373.40 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2558
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,888.76 จุด เพิ่มขึ้น 23.77 จุด หรือ +0.49% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,967.49 จุด พุ่งขึ้น 139.87 จุด หรือ +1.18% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,274.83 จุด ลดลง 25.03 จุด หรือ -0.34%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบ เมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) โดยบรรยากาศการซื้อขายได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของธนาคารเอชเอสบีซี อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการที่สดใสของบีเอชพี บิลลิตัน ได้ช่วยสกัดแรงลบของตลาดในระหว่างวัน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,274.83 จุด ลดลง 25.03 จุด หรือ -0.34%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวก เมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) ขานรับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่ส่งสัญญาณให้ความร่วมมือลดกำลังการผลิตมากขึ้น
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 66 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 54.06 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 48 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 56.66 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับลง เมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และตลาดหุ้นนิวยอร์กที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ได้กดดันให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.09% ปิดที่ 1,238.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 2.9 เซนต์ หรือ 0.16% ปิดที่ 18.001 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดทรงตัวที่ 1,006.00 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย.ลดลง 40 เซนต์ หรือ 0.09% ปิดที่ 770.15 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งรวมถึงประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 113.58 เยน จากระดับการซื้อขายวันก่อนที่ 112.88 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0091 ฟรังก์ จากระดับ 1.0026 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.0545 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0612 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2460 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2429 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.7679 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7663 ดอลลาร์สหรัฐ