
“ดีป้า” ผนึกเครือข่ายพันธมิตรลุย OTOD ยกระดับชาวสวน “ทุเรียน” ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล
“ดีป้า” ขยายผลโครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล ลุยส่งเสริม 10,000 เกษตรกรขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ และพลิกทุเรียนไทยกลับมายืนหัวแถวอาเซียน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย นายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผศ.พวงเพ็ชร์ นิธยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และ นางสาวณิชนันทน์ บุญเพิ่มพูล Manager of Seasonal Fruit – CP Fresh บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT ร่วมแถลงแนวทางการขยายผลโครงการ One Tambon One Digital: OTOD ทุเรียนดิจิทัล พร้อมประกาศความร่วมมือการดำเนินโครงการดังกล่าว ณ อาคาร ดีป้า (สำนักงานใหญ่) ซอยลาดพร้าว 10 เขตจตุจักร
โดย ดีป้า เริ่มดำเนินโครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล ในปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยนำแพลตฟอร์มดิจิทัล (แอปพลิเคชัน) มาประยุกต์ใช้จดบันทึกข้อมูลและติดตามย้อนกลับการเพาะปลูกทุเรียน ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่ได้รับมาตรฐาน dSURE และขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล มาพร้อมกับคุณสมบัติที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจดบันทึกข้อมูลและติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลเกษตรกรเพื่อรวบรวมเป็น Big Data การจัดการข้อมูลเพื่อยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) การจัดการคุณภาพผลผลิต การจัดการการตลาด ฯลฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวสวนทุเรียน โดยช่วงที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวช่วยลดต้นทุนการผลิตให้พี่น้องเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 180 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทุเรียนมากกว่า 1,280 ล้านบาท
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า มุ่งหวังให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการการเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้ ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรจึงมุ่งขยายผลโครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรเลือกใช้แอปพลิเคชันที่หลากหลายยิ่งขึ้น
อีกทั้งมีการเพิ่มคุณสมบัติ Greenhouse Gas Information หรือข้อมูลการลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกโดยใช้บริการดิจิทัลเพื่อการจัดเก็บคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยต่อยอดแพลตฟอร์มกลางเก็บข้อมูลเพาะปลูกเพื่อเป็น Big Data ด้านการเพาะปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร ในการร่วมคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ร่วมยกระดับบริการดิจิทัลด้านการเกษตรสัญชาติไทยให้ได้มาตรฐาน dSURE พร้อมผลักดันเข้าสู่บัญชีบริการดิจิทัล และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า ในการขยายช่องทางตลาดเพื่อกระจายผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“ดีป้า ตั้งเป้ายกระดับศักยภาพเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยทั่วประเทศรวม 10,000 ราย พร้อมต่อยอดสู่การนำเทคโนโลยี IoT บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะมาช่วยควบคุมการเปิด – ปิดการรดน้ำในสวนทุเรียนผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่สามารถควบคุมการทำงานทั้งแบบการตั้งค่าเวลาและแบบอัตโนมัติผ่านชุดเซนเซอร์วัดความชื้นและวัดอุณหภูมิในพื้นที่สวนทุเรียน
นอกจากนี้ ดีป้า ยังมีการมอบคูปองดิจิทัลให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีการบันทึกข้อมูลสม่ำเสมอ จำนวน 500 รางวัล เพื่อให้เกษตรกรได้เลือกซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลด้านการเกษตรบนบัญชีบริการดิจิทัล มูลค่า 10,000 บาท โดย ดีป้า ประเมินว่า โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้พี่น้องชาวสวนทุเรียนราว 1,700 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทุเรียน 11,700 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดถือเป็นหนึ่งก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยให้ก้าวไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) รองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสากล และพลิกฟื้นทุเรียนไทยให้กลับมายืนหัวแถวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคมนี้ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า ‘ทุเรียน ดิจิทัล’ และกดสมัครได้เลย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ดีป้า โทร 06 1423 9055 และ 09 2955 9478 หรือ Line OA: @durian_digital