ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตชัดเจน H2/60

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตชัดเจนใน H2/60 หลังงบลงทุนกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมี.ค.60 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1)

โดยภาพรวมสินเชื่อเดือน มี.ค.60 กลับมาชะลอตัวลง -0.04% จากเดือนก่อนหน้า และ -0.18% จากไตรมาสก่อน แต่ขยับขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 1.75% จากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อภาคธุรกิจทั้งในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และลูกค้า SME โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนรูปแบบการระดมทุนของลูกค้ารายใหญ่ที่หันไปออกหุ้นกู้ระดมทุนด้วยตนเอง ประกอบกับการทยอยชำระคืนหนี้หลังการเบิกใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีก่อน ขณะที่การอนุมัติและเบิกใช้สินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นช้ากว่า

ด้านสินเชื่อรายย่อยยังค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากไม่มีแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อใหม่ให้ยืนเหนือการชำระคืนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในสินเชื่อหลักของรายย่อย อันได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถนั้นยังมีภาพที่ปะปน กล่าวคือ ธนาคารหลักที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อสูงสุดเริ่มมีสถานะสินเชื่อเช่าซื้อสุทธิเป็นบวกเล็กน้อย (สินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการชำระคืนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีหลังจบโครงการรถคันแรกในปี 2556)

ขณะที่ธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรองลงมายังมีสถานะสินเชื่อเช่าซื้อติดลบ ซึ่งคาดว่าในภาพรวมของระบบคงต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัวได้อย่างเร็วในปลายไตรมาส 2 นอกจากนี้ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีการชำระคืนต่อเนื่องหลังผ่านเทศกาลใช้จ่ายในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ คงขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากขาดปัจจัยสนับสนุน ทั้งธนาคารผู้ให้สินเชื่อที่ยังเผชิญภาวะหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ยังมีทิศทางเสื่อมลงจากการหวนกลับมาเป็นหนี้ NPL อีกครั้งของลูกหนี้

ขณะเดียวกัน ในด้านความต้องการสินเชื่อของลูกหนี้ผู้กู้ยืมอาจไม่เพิ่มเท่าที่ควร ทั้งจากลูกหนี้รายใหญ่ที่หันหาช่องทางระดมทุนด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ได้เงินทุนระยะยาวขึ้นในต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง และลูกหนี้รายย่อยที่ยังอยู่ใต้แรงกดดันของภาวะหนี้ครัวเรือน

สำหรับภาพรวมเงินฝากเดือน มี.ค.60 ทรงตัวจากเดือนก่อน (แต่ขยับขึ้น 1.26% จากไตรมาสก่อน และ 1.98% จากปีก่อน) เนื่องจากเงินฝากออมทรัพย์ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ลดลง ส่วนเงินฝากในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กขยับขึ้นเล็กน้อย ตามการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษใหม่รวม 10 ผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ที่ออกในระยะนี้ มีระยะเวลาฝากเฉลี่ยยาวขึ้น จากเดิม 4-5 เดือน เป็น 6-7 เดือน โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่แม้จะดีกว่าปัจจุบันแต่มีทิศทางที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ธนาคารยังสามารถประคองผลการดำเนินงานไว้ได้ ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตช้า และรายได้จากค่าธรรมเนียมหลายรายการถูกปรับลดลง

ขณะที่ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน มี.ค. 2560 ยืนที่ระดับ 90.64% เท่ากับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมยังสะท้อนภาพที่ผ่อนคลายลงมาที่ระดับ 21.60% จาก 21.24% ในเดือนก่อนหน้า

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยจะจบไตรมาส 1/2560 ด้วยอัตราการเติบโตที่ 1.75% จากปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แต่ถ้ามองมิติการเติบโตของสินเชื่อในลักษณะเดือนต่อเดือน แล้ว ยังถือว่าสินเชื่อยังไม่มีโมเมนตัมการเติบโตที่ชัดเจนนัก ซึ่งน่าจะเป็นภาพที่คงเห็นต่อเนื่องในไตรมาส 2/2560 เช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการเติบโตของสินเชื่อน่าจะทยอยมีภาพที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อกิจกรรมการลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณเดินหน้าลงสู่ท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ ตลอดจนอานิสงส์จากการค้าระหว่างประเทศที่ให้ภาพเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งน่าจะหนุนความต้องการสินเชื่อจากภาคธุรกิจ ทั้งจากสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ Trade Finance ตลอดจนสินเชื่อเพื่อการลงทุน อาทิ ในธุรกิจก่อสร้าง

ด้วยทิศทางการเติบโตของสินเชื่อในช่วงไตรมาส 2/2560 ที่คงจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คาดว่าแคมเปญเงินฝากพิเศษที่ออกใหม่จะยังคงมุ่งชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดเป็นหลัก ควบคู่กับสะท้อนความพยายามในการบริหารจัดการโครงสร้างต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ (ท่ามกลางข้อจำกัดในการเติบโตรายได้สินเชื่อและค่าธรรมเนียม)

โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่มีระยะยาวขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าอาจมีการปรับอัตราผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์เงินฝากขึ้นบ้างให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราผลตอบแทนของตลาดก็ตาม ด้านการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2560 นั้น อาจมีผลในการดึงเงินฝากบ้างแต่คงไม่มากนัก เพราะมีวงเงินที่จำกัดไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามด้วยภาพสินเชื่อและเงินฝากที่ไม่ต่างจากไตรมาสแรกของปีมากนัก จึงทำให้สภาพคล่องในไตรมาส 2/2560 น่าจะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2560 โดยปัจจัยจับตาจะอยู่ที่หลายตัวแปรที่จะเข้ามากระทบต่อสภาพคล่องของระบบการเงินชัดเจนขึ้น จนอาจมีผลกระทบทางอ้อมมาสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยบางส่วนได้ เช่น การระดมเงินทุนเพื่อไฟแนนซ์งบกลางปี และงบประมาณของภาครัฐ ตลอดจนการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนเพื่อชดเชยรุ่นที่ครบกำหนด ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมากกว่าไตรมาสอื่นๆ เป็นต้น

Back to top button