มหากาพย์ IFEC ยังไม่จบ! ผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมพลังล้างบาง “หมอวิชัย”

มหากาพย์ IFEC ยังไม่จบสิ้น! เหล่าผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมพลังต่อต้าน ทำทุกวิถีทางหวังล้างบาง “หมอวิชัย”


ผ่านระยะเวลามากว่า 8 เดือน ดูเหมือนว่าประเด็นของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จะยังไม่จบเสียที หลังจากที่นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ที่ครองเสียงข้างมาก กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร IFEC ท่ามกลางความขุ่นข้องหมองใจของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ไม่สามารถขัดขืนอะไรได้

โดยจำใจต้องปล่อยให้ประธาน IFEC ท้าทายอำนาจการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่ “หมอวิชัย” ปล่อยให้ไอเฟคผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี  ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้  หลังจากแอบจำนำหุ้น บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ แคป แมเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นของโรงแรมดาราเทวี เพียงเพื่อเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้ยืดหนี้ตั๋วบี/อี ที่มีมูลค่าเพียง 100 ล้านบาท และสุดท้ายก็ปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวจนได้

โดยการกระทำดังกล่าวในห้วงเวลาดังกล่าว เป็นธุรกรรมที่ประธาน IFEC และกรรมการ ดำเนินการโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ (เพราะไม่มีกรรมการตรวจสอบ) และไม่ผ่านการรับรองจากผู้ถือหุ้น หากเรื่องไม่โผล่ออกมาจากการเปิดเผยของเจ้าหนี้สถาบันการเงิน แน่นอนว่าผู้ถือหุ้นไม่มีทางได้รับรู้เรื่องดังกล่าวแน่นอน ฉะนั้นจึงไม่อาจทราบได้ว่านอกเหนือจากเรื่องราวฉาวโฉ่เหล่านี้แล้ว “หมอวิชัย” จะทำธุรกรรมอะไรที่สร้างความเสียหายให้กับ IFEC มากกว่านี้หรือไม่

 

ฟากผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ไม่ได้อยู่เฉย พยายามใช้พลังเสียงที่มีเพื่อแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจที่มีต่อ “หมอวิชัย” ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ในการประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการบริษัทฯ แทนตำแหน่งที่ว่าง

โดยขณะนั้น “นายทวิช เตชะนาวากุล” เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ได้เสนอตัวและทีมเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อฟื้นฟูกิจการของ IFEC ให้กลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง พร้อมกับแผนงานที่ชัดเจนในการคืนหนี้ให้กับสถาบันการเงิน พร้อมกับเดินหน้าธุรกิจ การเร่งปิดงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การปลดเครื่องหมาย SP ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของ IFEC แต่ “หมอวิชัย” ในฐานะประธานกรรมการไอเฟคและประธานการในที่ประชุม กลับไม่เสนอรายชื่อคณะกรรมการของฝั่งของ “ทวิช” เข้าสู่การประชุม

อย่างไรก็ตามในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ผู้ถือหุ้นแสดงฉันทามติด้วยการลงคะแนน ไม่เห็นชอบคณะกรรมการที่ “หมอวิชัย”เสนอมาทั้งหมดนี่เป็นการเปิดฉาก “ตบหน้า” ครั้งแรกจากผู้ถือถือหุ้นรายย่อย

ขณะที่ต่อมาในการประชุมรอบ 2 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีวาระที่สำคัญคือ การแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ รอบนี้ประธานไอเฟคเสนอรายชื่อทั้งสองฝั่ง แต่ในการประชุมครั้งนี้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

โดยประกาศใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ ด้วยวิธีการเทคะแนน หรือ Cumulative Voting ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย และขัดข้อบังคับของบริษัท ซึ่งผลของการประชุมในครั้งนั้น ทำให้กรรมการไอเฟคในฝั่งของ “วิชัย” ได้ที่นั่งกรรมการ 2 ท่าน ขณะที่ในฝั่งของ “ทวิช” ได้รับการเลือกตั้ง 5 ท่าน

แต่ปัญหายังไม่จบสิ้น เมื่อ “หมอวิชัย” สอดไส้กรรมการชุดใหม่ในฝั่งของ “นายทวิช” ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาหมาดๆ 5 คน ต้องหมดวาระถึง 3 คน ในเดือน เม.ย.2560 ก่อนที่จะจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 2 พ.ค.2560 เพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่หมดวาระ

ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า “หมอวิชัย” อาศัยความได้เปรียบจากการนั่งในตำแหน่งประธานไอเฟค ทำทุกวิถีทางให้ฝ่ายของตนได้กุมอำนาจบริหารแบบเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 2 พ.ค.2560 ผู้ถือหุ้นก็ได้แสดงพลังเป็นครั้งที่สอง เพื่อตอกย้ำว่าไม่เอา “หมอวิชัย” ด้วยการออกเสียงไม่รับรองผลการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 มกราคม 2560 และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

โดยการประชุมในครั้งนี้มีการเลือกตั้งกรรมการแทนชุดเดิมที่หมดวาระ แล้วก็ยังคงเลือกใช้วิธีการเลือกตั้งแบบ Cumulative Voting  ซึ่งผลที่ออกมาคือกลุ่มของ “หมอวิชัย” ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการเสียงข้างมาก  และนี่คือชนวนเหตุที่ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย ตัดสินใจยื่นหนังสือไปยังกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งกรรมการไอเฟค

ล่าสุดมีรายงานว่ากรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธี Cumulative Voting ของ IFEC เข้าข่ายมิชอบด้วยกฎหมาย และผิดข้อบังคับบริษัท นั่นหมายความว่าการประชุมทั้ง  2 ครั้งที่ “หมอวิชัย” ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานไอเฟคและประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เลือกใช้วิธีการ Cumulative Voting ขัดกฎหมาย ดังนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ ของกรรมการ ย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย ทำให้กรรมการในฝั่งของ “หมอวิชัย” กลายเป็นบอร์ดเถื่อน

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ IFEC ไม่ใช่เรื่องงของความขัดแย้งของ ผู้บริหารปัจจุบัน และอดีตผู้บริหาร อย่างที่สำนักงาน ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์เข้าใจ และเป็นที่มาที่ทำให้นักลงทุนรายย่อย ปยื่นหนังสือเรียกร้องสำนักนายกฯ และฟ้องอาญา มาตรา 157 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 3 กรกฎาคม  2560 นี้

แต่เป็นเพราะว่าสนิมเนื้อในที่เป็นปมปัญหาของไอเฟค เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารงาน การขาดธรรมาภิบาลของผู้บริหารที่นำโดย “หมอวิชัย” การไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกทั้งยังท้าทายอำนาจการตรวจสอบ เพียงเพราะหวังว่าจะได้ครองอำนาจบริหารงานในไอเฟค ณ เวลานี้ คงต้องบอกว่า หมดเวลาแล้วสำหรับ “หมอวิชัย”

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุด ในวันที่ 29 มิถุนายน 2539 กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ยื่นหนังสือทวงถามไปยังสำนักงานก.ล.ต. เพื่อให้เพื่อให้พิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดต่อข้อบังคับของ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC หลังจากที่มีรายงานข่าวโดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ที่เห็นว่าการประชุมผู้ถือหุ้น IFEC เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เป็น “โมฆะ” เนื่องจากการใช้อำนาจที่มิชอบในวาระเลือกตั้งกรรมการบริษัท ที่กำหนดวิธีการเลือกตั้งที่ขัดต่อกฎหมายและขัดข้อบังคับของบริษัท

โดยที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ทำหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของประธานไอเฟค ที่ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ไปยังหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักนายกฯ เพื่อให้มีคำสั่งให้หน่วยงานกำกับดูแลปฏิบัติตามหน้าที่

อีกทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนไปถึงกรรมาธิการการเงินการคลังการธนาคาร และสถาบันการเงิน รัฐสภา เพื่อให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัท เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ลงทุนในไอเฟคจำนวนกว่า 27,170 คน

นอกจากนี้ ยังได้ร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีอาญา มาตรา 157 กับสำนักงาน ก.ล.ต. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่าปัญหา IFEC จะจบอย่างไร หลังจากรายย่อยต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้อง IFEC ให้รอดพ้นจากการถูก “หมอวิชัย” กุมอำนาจในการบริหารไว้ในมือของตัวเอง ทั้งที่เวลานี้ได้หมดความชอบธรรมไปเรียบร้อยแล้ว จากสิ่งที่เกิดขึ้นใน IFEC ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา คงได้แต่เฝ้าภาวนาว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจะเข้ามาจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้เลยผ่านเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่นดังที่ผ่านมา

Back to top button