“ซันสวีท” เคาะราคา IPO ที่ 5.85 บาท/หุ้น เล็งเทรด 28 ธ.ค.นี้

ซันสวีท หรือ SUN ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปภายใต้ตราสินค้า "KC" เคาะราคาขาย IPO จำนวน 130 ล้านหุ้น ที่ 5.85 บาท เปิดจองซื้อ 20-22 ธ.ค.60 จ่อเทรด mai 28 ธ.ค.นี้ โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN เปิดเผยว่า บริษัทกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 130 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 5.85 บาท เปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 20-22 ธ.ค. และเข้าซื้อขายในหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 28 ธ.ค. โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

โดยบริษัทวางแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

อนึ่ง บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “KC” นอกจากนี้บริษัทผลิตตามคำสั่งลูกค้าภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า

ส่วนบริษัท ซันสวีท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (SI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจจัดหาและซื้อมาจำหน่ายไปผลิตภัณฑ์อาหารและผลผลิตทางการเกษตร เช่น หอมหัวใหญ่สด แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดบรรจุกระป๋อง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน และซอสมะเขือเทศ เป็นต้น ให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

ด้านนายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริการ SUN เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 61 เติบโตราว 10% จากปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ราว 1,600 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกทำรายได้ไปแล้วราว 1,200 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) ด้วยการสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามาจากยุโรป ใช้เงินลงทุนรวมราว 150 ล้านบาท เริ่มผลิตได้ในกลางปีหน้า

“บริษัทมีโครงการในอนาคตตามแผนธุรกิจเพื่อขยายกำลังการผลิตและลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็ง เนื่องจากปัจจุบันมีสายการผลิตเพียงอย่างละ 1 สายการผลิตเท่านั้น ซึ่งปรากฎว่าที่ผ่านมาในปี 59 และ ช่วงครึ่งปีแรกของปี 60 บริษัทมีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยเกือบเต็มกำลังการผลิตแล้ว” นายองอาจ กล่าว

ทั้งนี้ การขยายกำลังผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็งเพื่อเน้นการขยายตลาดส่งออก ซึ่งปัจจุบันกระจายอยู่กว่า 50 ประเทศ ตลาดสำคัญอยู่ในเอเชีย ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน นอกจากนั้นยังมีตลาดตะวันออกกลาง ยุโรป และทางใต้ของแอฟริกา ส่วนสหรัฐฯ ยังมีปริมาณขายไม่มากนัก

โดยในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกราว 3 หมื่นตัน หรือมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในตลาดส่งออกข้าวโพดหวานของไทยราว 15% สินค้าหลัก คือ ข้าวโพดหวานทั้งฝักพร้อมรับประทาน และข้าวโพดกระป๋อง

สำหรับตลาดในประเทศ ขณะนี้บริษัทได้สิทธิในการวางขายข้าวโพดพร้อมรับประทาน ขนาดครึ่งฝัก ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอื่นๆ อีกบางส่วน โดยตั้งเป้ายอดขายราว 8 พัน-1.2 หมื่นชิ้น/เดือน

นายองอาจ กล่าวเพิ่มว่า บริษัทรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรที่ทำสัญญาในลักษณะ Smart Farm ที่ได้รับการสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์จากบริษัทในปีนี้ราว 1 แสนตัน เพิ่มขึ้นจาก 8 หมื่นตันในปี 59 โดยมีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดป้อนให้กับบริษัทราว 5-6 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตรจากโรงงานใน จ.เชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนได้ขยายพื้นที่ออกไปจากแนวเขตดังกล่าวเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่อยู่ไกลสุด คือ จ.นครราชสีมา แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถส่งข้าวโพดเข้าสู่โรงงานได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเก็บเกี่ยว

ด้านนายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ APM กล่าวว่า SUN ถือว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานแปรรูป การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยให้ SUN มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น จนทำให้บริษัทมีการขยายตลาดและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ส่วนนายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SUN กล่าวว่า ราคาเสนอขาย IPO ที่ 5.85 บาท ถือเป็นราคาที่เหมาะสมและน่าสนใจลงทุน เนื่องจาก SUN มีแผนขยายตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายชัดเจน อีกทั้งเชื่อว่าข้าวโพดหวานยังเป็นที่ต้องการในตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่ต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีมาตรฐานและคุณภาพ

สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นอีก 7 ราย ได้แก่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส, บล.โนมูระ พัฒนสิน, บล.เคทีบี (ประเทศไทย), บล.ทรีนิตี้ , บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย), บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ และ บล.เคที ซีมิโก้

Back to top button