
วิกฤตสงครามการค้าสหรัฐ-ตุรกีฉุดเงิน “ลีรา” ทรุด! กดหุ้นเอเชียผันผวน
วิกฤตสงครามการค้าสหรัฐ-ตุรกีฉุดเงิน “ลีรา” ทรุด! กดหุ้นเอเชียผันผวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินลีราตุรกี บาทไทย (TRY/THB) ณ เวลา 11.55 น. อยู่ที่ระดับ 4.82 บาท ลบ 0.14 บาท หรือคิดเป็น 2.87% จากราคาปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 4.96 บาท โดยค่าเงินลีราปรับตัวลดลงอย่างหนักมาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.61) ที่ปรับตัวลดลงกว่า 13.36% จนมาปิดที่ระดับ 5.19 บาท
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินลีราปรับตัวลดลงอย่างหนักมาจากลงทุนที่ทำการเทขายหลัง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้อนุมัติให้ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นสองเท่าต่อตุรกีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.) ซึ่งทำให้ค่าเงินลีราอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ วิกฤตเงินลีราดังกล่าวได้ส่งผลกระทบมาถึงตลาดหุ้นในเอเชียเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ส.ค.61 เมื่อเงินลีราอ่อนตัวลงต่อจนทำสถิติต่ำสุดใหม่ ขณะเดียวกันทำให้เงินแรนด์แอฟริกาใต้อ่อนตัวมากสุดในรอบเกือบ 10 ปี เมื่อนักลงทุนตีจากสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่
ด้านนาย วาสุ เมนอน รองประธานกลุ่มบริหารความมั่งคั่งของโอซีบีซี แบงก์ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าเงินลีราอ่อนตัวลง 20% ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาด แต่การเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการลุกลาม ซึ่งตนมองว่าความกังวลเหล่านั้นไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมที่จะเหวี่ยงแหไปทั่วตลาดเกิดใหม่
ขณะเดียวกัน แคปิตอล อีโคโนมิคส์ เปิดเผยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงของวิกฤตในตุรกีต่อตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ควรจะอยู่ในวงจำกัด แม้ว่าปัญหาของตุรกีอาจทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบต่อตลาดเกิดใหม่โดยรวมและอาจทำให้ภาวะการเงินของเศรษฐกิจเกิดใหม่ลำบากมากขึ้น
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับตุรกีไม่มากเช่นกันดังนั้นการชะลอตัวในตุรกีไม่ควรจะสร้างความเสียหายต่อการส่งออกของตลาดเกิดใหม่ การส่งออกของตลาดเกิดใหม่รวมกันไปยังตุรกีมีมูลค่าเพียง 0.3%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของตลาดเกิดใหม่ซึ่งบางประเทศมีความเสี่ยงมากกว่าบางประเทศ ดังนั้นวิกฤตนี้น่าจะสามารถจัดการได้
ทั้งนี้ แม้ประวัติศาสตร์ชี้ว่าวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ประเทศหนึ่งจะสามารถขยายไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีความเปราะบางเหมือนกันได้เช่นเมื่อตอนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่าจะลดนโยบายคิวอีที่เรียกว่า “Taper Tantrum” ประเทศในกลุ่มที่เรียกว่า “Fragile Five” ซึ่งขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ได้แก่ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกีและแอฟริกาใต้ ประสบปัญหาค่าเงินอ่อนตัวครั้งใหญ่สุดในตอนนั้น
นอกจากนี้ ความเปราะบางในภาคธนาคารของตุรกีที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้รุนแรงกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆส่วนใหญ่ มีเพียงจีนเท่านั้นที่มีปัญหาสินเชื่อมากว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาและความเสี่ยงของจีนลดลงเพราะการปล่อยกู้ได้ใช้เงินฝากในประเทศ ไม่ใช่ใช้ตลาดโฮลเซลในต่างประเทศเหมือนในตุรกีและบัญชีทุนเป็นบัญชีปิด
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินลีราอ่อนตัวลดลงหลังธนาคารกลางตุรกีประกาศเมื่อวันจันทร์ว่าธนาคารจะได้รับสภาพคล่องตามที่ต้องการทั้งหมดและจะลดอัตราดอกเบี้ยซื้อลดสำหรับการค้ำประกันธุรกรรมเงินลีราเช่นกันแต่ไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันจะลดเกณฑ์กันสำรองเงินลีราของธนาคารพาณิชย์ที่หมดอายุทั้งหมดประมาณ 2.50%
อนึ่ง สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) ปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,200 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน จากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านการเงินที่เกิดขึ้นหลังจากสกุลเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างหนัก โดยสัญญาทองคำตลาดโคแมกซ์ ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 20.10 ดอลลาร์ หรือ 1.65% ปิดที่ 1198.90 ดอลลาร์/ออนซ์.
ขณะที่ บล.กรุงศรี ระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้คาดดัชนีปรับตัวลงทดสอบ 1,690 จุด +/- จากความกังวลวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกีที่อ่อนตัวลงรุนแรงหลังสหรัฐฯสั่งเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กจากตุรกีขึ้นเป็น 50% และอลูมิเนียมเป็น 20% ซึ่งส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ทำธุรกรรมในตุรกีที่อาจถูกผิดนัดชำระหนี้ได้
ส่วนนักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า จากวิกฤตค่าเงินตุรกีที่อ่อนค่าดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรง มีเพียง Sentiment และเงินบาทที่หวั่นจะอ่อนค่าตามสกุลเงินในเอเชีย และอาจมีผลต่อ Fund Flow ได้ ด้านตลาดภูมิภาคเช้านี้บางตลาดฯ เริ่มฟื้นตัว และคาดว่าช่วงบ่ายวันนี้ตลาดฯคงจะยังซบเซา แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตุรกีจะดีขึ้นได้หรือไม่ พร้อมให้แนวรับ 1,680 แนวต้าน 1,700 จุด
อนึ่งดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้านี้ที่ระดับ 1,686.75 จุด ลดลง 19.21 จุด หรือ 1.13% มูลค่าการซื้อขาย 29,386.73 ล้านบาท