“ทิสโก้” ชี้ปี 63 ราคาน้ำมัน WTI เสี่ยงหลุด 50 เหรียญฯ วิตกเจอภาวะ “Oversupplied”

“ทิสโก้” ชี้ปี 63 ราคาน้ำมัน WTI เสี่ยงหลุด 50 เหรียญฯ วิตกเจอภาวะ "Oversupplied"


ทิสโก้นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ในปี 63 ประเมินราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อาจปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ เนื่องจากความขัดแย้งในกลุ่มโอเปก (OPEC) เริ่มมีสัญญาณรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบฐานะการเงินที่ย่ำแย่ของประเทศสมาชิก ทำให้คาดว่ามีโอกาสน้อยมากที่การลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมของกลุ่ม OPEC จะทำได้สำเร็จ หากเป็นเช่นนั้นตลาดน้ำมันโลกก็จะเข้าสู่ภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupplied) ในที่สุด

“แม้เหตุโจมตีแหล่งน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย เมื่อกลางเดือน ก.ย. จะกระทบต่อกำลังการผลิตของซาอุฯ อย่างรุนแรง และทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันรวมของกลุ่ม OPEC ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางซาอุฯ สามารถฟื้นฟูกำลังการผลิตกลับมาได้แล้วทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังถูกโจมตี ซึ่งน่าจะทำให้กำลังการผลิตของซาอุฯ กลับมาสู่ระดับปกติได้ในเดือน ต.ค. และ หากไม่นับการลดลงของซาอุฯ ปริมาณการผลิตของสมาชิก OPEC อื่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอิรัก ไนจีเรียและเอกวาดอร์ ซึ่งผลิตเกินกว่าโควต้ามาโดยตลอด รวมไปถึงรัสเซียซึ่งแม้จะผลิตต่ำกว่าโควต้า แต่ก็ผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงการขาดวินัยในการปฏิบัติตามข้อตกลงลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC+” นายคมศรกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีข่าวตามมาอีกว่า ประเทศเอกวาดอร์ประกาศจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก OPEC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นี้ หลังประสบปัญหาทางด้านการเงินภายในประเทศ และต้องการที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อหารายได้เข้าประเทศ  แม้เอกวาดอร์จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันขนาดเล็ก ซึ่งผลิตน้ำมันดิบเพียง 5.4 แสนบาร์เรลต่อวัน และหากเทียบกับปริมาณการผลิตสูงสุดในปี 57 เอกวาดอร์จะมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นได้อีกเพียง 2.4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่ออุปทานโลกมากนัก แต่การถอนตัวของเอกวาดอร์ ก็ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งในกลุ่ม OPEC ที่คุกรุ่นมานาน ท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันตกต่ำเรื้อรังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เอกวาดอร์ไม่ใช่ประเทศแรกที่ถอนตัวจากกลุ่ม OPEC โดยก่อนหน้านี้ กาตาร์ และอินโดนีเซีย ได้ประกาศถอนตัวมาแล้วเมื่อต้นปี 62 และ 60 ตามลำดับ โดยการ์ต้าอ้างถึงความไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC ในการถอนตัว ในขณะที่อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ซึ่งการพยามควบคุมการผลิตเพื่อดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นนั้นส่งผลเสียต่อประเทศมากกว่าผลดี

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า ความท้าทายของกลุ่ม OPEC นั้นไม่ใช่แค่เพียงการพยามควบคุมปริมาณการผลิตให้อยู่ภายใต้โควต้าที่ตกลงกันไว้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพยามลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมอีกเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอุปทานล้นตลาดในปีหน้า  หากอ้างอิงตัวเลขจากรายงาน Monthly Oil Market Report ของ OPEC ฉบับเดือน ต.ค.62 ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันดิบของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 54 ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอลง) ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากนอกกลุ่ม OPEC จะเติบโตขึ้น 2.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน หมายความว่า หาก OPEC ยังผลิตน้ำมันเท่าเดิม ตลาดน้ำมันโลกจะเข้าสู่ภาวะ Oversupplied ในปี 63 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Back to top button