“สื่อฮ่องกง” ตีแผ่ 5 ตระกูลมหาเศรษฐีไทยหนุนหลัง “บิ๊กตู่” ทำลายศก.-เพิ่มความเหลื่อมล้ำ

"เอเชียไทม์" สื่อฮ่องกงตีแผ่ 5 ตระกูลมหาเศรษฐีไทยหนุนหลัง "บิ๊กตู่" ทำลายเศรษฐกิจ-เพิ่มความเหลื่อมล้ำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอเชียไทม์ สื่อออนไลน์ฮ่องกง นำเสนอสกู๊ปข่าวพาดพิง 5 ตระกูลนักธุรกิจรายใหญ่ของไทย หรือ บิ๊กไฟว์ หนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยมีเนื้อหาว่า เมื่อครั้งที่พรรคพลังประชารัฐจัดระดมทุนสนับสนุนการเลือกตั้ง ได้มีการจัดโต๊ะจีนเพื่อเชิญพันธมิตรธุรกิจรายใหญ่และที่ใกล้ชิดที่สุดมาร่วมงาน งานเลี้ยงดังกล่าวได้ดึงดูดผู้นำธุรกิจของไทยหลายราย และในบรรดารายชื่อแขกเกรดเอ มีตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไทยเบฟ คิงพาวเวอร์ กรุ๊ป บุญรอด บริวเวอรี่ และเซ็นทรัล กรุ๊ป ซึ่งสามารถระดมทุนได้ 622 ล้านบาทเข้าพรรค

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตัดสินในเวลาต่อมาว่า การบริจาคเงินของบริษัทเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมายและไม่ฝ่าฝืนระเบียบเลือกตั้ง อีกทั้งหลายเดือนต่อมาพรรคพลังประชารัฐ ท้าทายการคาดการณ์ด้วยการชนะคะแนนป็อปปูลาร์โหวตในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งได้คืนอำนาจให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรูปของรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้ง

โดย เอเชียไทม์ ยังระบุอีกว่า นักวิเคราะห์และนักวิจารณ์กล่าวว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้ช่วยหนุน “5 ตระกูล” ของไทย ที่รู้กันว่าเป็นผู้ก่อตั้ง กลุ่มซีพี บุญรอด ไทยเบฟ คิงพาวเวอร์ และเซ็นทรัล กรุ๊ป แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีคอนเน็กชั่นน้อยกว่ากลุ่มดังกล่าวต้องเสียประโยชน์

ทั้งนี้ 5 บริษัทมีอำนาจและมีกำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีแรกของพลเอกประยุทธ์ (2557-62) บางบริษัทได้ขยายไปทำธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่บางบริษัทอย่างเช่นซีพีและเซ็นทรัล กรุ๊ป ได้ขยายธุรกิจค้าปลีกไปยังต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งในขณะที่บริษัททั้ง 5 แห่งนี้เติบโตก้าวหน้า ความเสี่ยงก็กำลังเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว และนักวิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามได้พุ่งเป้าไปที่บริษัทและผู้ก่อตั้งเหล่านี้ว่าทำให้เกิดความซับซ้อน และการแบ่งแยกความมั่งคั่ง
รวมถึงสัมปทานใหม่ๆของรัฐ และสัญญาขนาดใหญ่ที่แม้ว่าหลายสัญญาจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็ถือเป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เนื่องจากนักวิเคราะห์และนักวิจารณ์บางคนมองว่า ข้อตกลงและผลประโยชน์ต่างๆ เป็นการตอบแทนเงินบริจาคที่ให้กับพรรคพลังประชารัฐในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นเป็นจำนวนมาก เช่น

กรณีของ คิง พาวเวอร์ ได้ผูกขาดธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิใหม่และได้ขยายไปยังสนามบินใหญ่อื่นๆอีก 3 แห่งเป็นเวลา 10 ปี เพียงสองเดือนหลังจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม และก่อนที่รัฐบาลผสมของพลเอกประยุทธ์ จะได้ที่นั่งในสภาเสียด้วยซ้ำ

ในขณะเดียวกันกลุ่มซีพีได้รับสัญญามูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง 220 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อสนามบินสามแห่ง แม้ว่าในความเป็นจริง ซีพีจะไม่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ๆมาก่อนเลย

นอกจากนี้ เอเชียไทม์ยังอ้างอีกว่า นักวิเคราะห์ตลาดและและนักวิจัยอิสระ ระบุว่า “กลุ่มทรู” ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มซีพี เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากสุดจากคำสั่งของ คสช.ในเดือนเมษายน ซึ่งได้ยืดเวลาในการชำระใบอนุญาต 4 จี ให้กับบริษัทโทรคมนาคม 3 แห่งเป็นเวลา 5 ปี
ส่วนไทยเบฟและบุญรอด ซึ่งเป็นสองบริษัทที่ผูกขาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ก็ได้ประโยชน์จากการขึ้นภาษีนำเข้าไวน์และเบียร์และระเบียบในการผลิตอื่นๆที่ป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตเบียร์ระดับโลกเข้ามาหยั่งรากลึกในประเทศไทย

นอกจากนั้น เอเชียไทม์ ยังวิเคราะห์ว่า การยึดธุรกิจในภาคต่างๆอย่างแข็งขันของ 5 ตระกูล ได้ทำให้การพัฒนาเอสเอ็มอีของไทยแคระแกร็น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ขาดแคลนเงินทุน เพราะธนาคารขนาดใหญ่อยากปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจที่แน่นอนอย่าง 5 บริษัทใหญ่มากกว่าบริษัทขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

โดยธนาคารเอสเอ็มอีมีลูกค้าเงินกู้เพียง 4,000-5,000 ราย จากฐานลูกค้าที่มีศักยภาพหลายล้านราย ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำและเป็นแขกอีกรายหนึ่งในงานหาทุนของพรรคพลังประชารัฐ เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆนี้ที่จะควบคุมการปล่อยกู้ให้แก่เอสเอ็มอีเนื่องจากมีความเสี่ยงเมื่อเทียบกับเงินกู้ขนาดเล็กกว่า

อย่างไรก็ดี อำนาจทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่กับบิ๊กไฟว์นี้ได้สร้างความเสี่ยงด้วยตัวของมันเอง นักวิเคราะห์ของบริษัทวาณิชธนกิจระดับโลกรายหนึ่ง เชื่อว่า บิ๊กไฟว์ ได้โตเกินกว่าที่จะล้ม ซึ่งถือเป็นสัญญาณถึงความตึงเครียดทางการเงินในบริษัทใดๆก็ตามที่จะทำให้เกิดความกังวลในตลาดถึงความเสี่ยงเชิงระบบในภาคธนาคาร

ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างพากันตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุมธนาคารพาณิชย์ กลับไม่มีระเบียบควบคุมกิจกรรม การลงทุนและการตัดสินใจในการใช้อำนาจทางการเงินของบิ๊กไฟว์ และความเสี่ยงดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในภาคอสังหาริมทรัพย์ บริษัทบิ๊กไฟว์ได้เข้าไปทำคอนโดมิเนียม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆและเป็นสาเหตุให้มีคอนโดและที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเกินไป โดยรายงานเมื่อเร็วๆนี้ชี้ว่ามีที่อยู่อาศัยว่างอยู่กว่า 500,000 ยูนิตเฉพาะในเมืองหลวงเพียงที่เดียว

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังได้ชี้ถึงการเข้าร่วมของบิ๊กไฟว์ในการขยายธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพและในต่างจังหวัดว่า มีขึ้นในขณะที่ผู้บริโภคไทยโดยเฉลี่ยมีภาระมากอยู่แล้ว โดยหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 79% ของจีดีพี และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับสองในเอเชีย
ทั้งนี้ นักวิจารณ์ยอมรับว่า การครอบงำเศรษฐกิจของบิ๊กไฟว์เป็นแกนหลักที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกความมั่งคั่งอย่างรุนแรงในประเทศไทย ซึ่งมีมาตรวัดหลายๆอย่างมากขึ้นที่ชี้ให้เห็นเช่นนั้น และบิ๊กไฟว์ยังรุ่งเรืองภายใต้การปกครองของพลเอกประยุทธ์ ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้

โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับเอเชียไทม์ในเดือนพฤศจิกายนว่า ภาคธุรกิจของไทย “ที่มีมากเกินไป” ได้เจอโครงสร้างการแข่งขันกึ่งผูกขาดและการมีผู้ขายรายน้อย (Oligopolistic and Monopolistic Structures) ที่ทำให้ไม่กี่ตระกูลมีโอกาสที่จะแสวงหาค่าเช่า (Rent-seeking Opportunities) เพื่อสร้างความมั่งคั่งจำนวนมหาศาล ซึ่งบิ๊กไฟว์และกลุ่มทุนไทยอื่นๆสะสมความมั่งคั่งโดยผ่านวิธีการเก่าๆ คือเป็นพันธมิตรกับผู้ทรงอำนาจทางการเมืองเพื่อทำให้เกิดกฎหมายและระเบียบที่ยับยั้งการแข่งขัน เพื่อปูทางให้มีการบูรณาการซัพพลายเชนในภาคผลิต ให้กลับไปเป็นกึ่งผูกขาด

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่อาจมีผลต่อบริษัทและตระกูลที่พรรคอนาคตใหม่กำลังพุ่งเป้าไปส่วนหนึ่งในนามของการกระจายความมั่งคั่งใหม่
ทั้งนี้ เครดิตสวิส ได้อ้างในรายงานเมื่อปลายปี 2561 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจ “เหลื่อมล้ำ” มากที่สุดในโลก โดย 67% ของความมั่งคั่งถือครองโดยประชากรเพียง 1% ในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2559

โดยตระกูลเจียรวนนท์ของกลุ่มซีพี ติดอับดับสูงสุดของฟอร์บในการจัดอันดับมหาเศรษฐี 50 อันดับของไทยในปีนี้ โดยทั้งตระกูลมีสินทรัพย์รวมกัน 29,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนตระกูลจิราธิวัฒน์ของกลุ่มเซ็นทรัล ติดอันดับสอง โดยมีสินทรัพย์ 21,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ก่อตั้งไทยเบฟ มาเป็นที่สี่ มีสินทรัพย์ 16,200 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกได้รายงานว่า ความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทยได้เลวร้ายลงในยุคที่ คสช.เรืองอำนาจ แต่อำนาจในตลาดและความมั่งคั่งของ 5 ตระกูลพันธมิตรนี้กลับเพิ่มมากขึ้น
โดยอัตราความยากจนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในปี 2559 เป็นประมาณ 10% ของประชากรเมื่อเทียบปีต่อปี ในขณะเดียวกัน 40% ของประชากรที่มีความมั่งคั่ง มีรายได้และการบริโภคลดลงในช่วงปี 2558-2560 ภายใต้การปกครองของ คสช.

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้อ้างแกลลัพ เวิลด์ โพลล์เมื่อเร็วๆนี้ว่า การรับรู้เกี่ยวกับความอยู่ดีกินดีทางการเงิน มาตรฐานการครองชีพและรายได้ของคนไทย เลวร้ายลงตั้งแต่ปี 2559

อย่างไรก็ดี รัฐบาลผสมที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ของประยุทธ์ อ้างว่าได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการแบ่งแยกด้านความมั่งคั่งและยกระดับคนยากจน โดยได้ดำเนินนโยบายแจกเงินให้กับคนแก่และคนหนุ่มสาว ซึ่งมีการตระหนักกันว่าเป็นโครงการสวัสดิการที่มีข้อบกพร่อง
ซึ่งนโยบายของประยุทธ์ที่เหมือนกับนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่นักวิจารณ์และนักวิเคราะห์อ้างว่าเป็น “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ที่ไม่ได้กระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและยังไม่แก้ปัญหาโครงสร้างและปัญหากฎระเบียบที่ปกป้องธุรกิจใหญ่และทำให้เอสเอ็มอีเสียเปรียบ

แผนริเริ่มที่สนับสนุนให้มีการแข่งขันในตลาด ไม่ได้รับแรงขับเคลื่อนภายใต้รัฐบาลรัฐประหารของประยุทธ์ ในขณะที่ระเบียบต่างๆที่เอาใจธุรกิจใหญ่มากกว่าธุรกิจขนาดเล็กในภาคสำคัญ ก็แข็งทื่อและไม่นุ่มนวล
ทั้งนี้ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเป็นสาเหตุหลักที่แสดงถึงการแบ่งแยกความมั่งคั่งของชาติเพียงไร และได้มีการขับเคลื่อนปัญหานี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองโดยเฉพาะ มากเพียงไร เหมือนที่การเคลื่อนไหวของคน “เสื้อแดง” ได้ชี้ให้เห็น
แต่การชะลอตัวของไทย กำลังทำให้ข้ออ้างของพลเอกประยุทธ์ ที่บอกว่าสนับสนุนคนจน กำลังเจอการทดสอบทางการเมืองที่มีเดิมพันสูง การเติบโตของจีดีพีมีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำกว่า 3% ในปีนี้ และขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งการเติบโตอาจลดลงอีกในปี 2563

ในขณะที่กำไรของบิ๊กไฟว์โตแต่เศรษฐกิจชะลอตัวลง รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐจะได้รับแรงกดันอย่างหนักมากขึ้นให้ขจัดเสียงวิจารณ์ของฝ่ายค้านเมื่อมีแนวคิดที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นว่า รัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก หรือ เอื้อคนรวยมากกว่าคนจน และหากข้อเท็จจริงทางการเมืองได้รับการยอมรับกว้างขึ้น ความมั่นคงที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ประกาศว่าจะมอบให้กับผู้นำบิ๊กไฟว์และบริษัทอื่นๆ ก็อาจจะพบกับความผิดหวังได้ในเร็วๆนี้ เอเชียไทม์ ระบุ

Back to top button