“กลุ่มผู้ประกอบการฯ” วอนปชช.อย่ากักตุน ย้ำสินค้าไม่ขาดตลาด!

กลุ่มผู้ประกอบการฯ” ยืนยันสินค้าอุปโภค-บริโภคเพียงพอต่อความต้องการของตลาด วอนปชช.อย่ากักตุนช่วงวิกฤต "โควิด-19"!


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ CPF  บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) หรือ SPC  บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป  บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด  บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด  บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด  บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด  บิ๊กซี  ท็อปส์  แม็คโคร 7-ELEVEN  และผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมหารือ

โดยทางด้านผู้ประกอบการสินค้า ยืนยันพร้อมกันว่า ทุกบริษัทมีสินค้าจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า

เช่นเดียวกับนายสมคิด ที่ยืนยันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคไม่มีทางขาดแคลน และประชาชนไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า เพราะประเทศไทยถือเป็นแหล่งการผลิตอาหาร พร้อมทั้งยืนยันว่า ไม่มีการปิดประเทศแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งประสานงานกับ 11 โรงงานที่ผลิตหน้ากากผ้าให้ได้ 10 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนภายใน 2 เดือน โดยให้เริ่มดำเนินการแจกตั้งแต่สัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ล้างมือ

ขณะเดียวกันขอให้ผู้ประกอบการออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างอย่าเพิ่งเลิกจ้างงานในช่วงนี้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาบ้างแล้ว และหลังจากนี้จะมีการหารือกันเพื่อหามาตรการเพิ่มเติม

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอาหารมีเพียงพอแน่นอน จากข้อมูลปัจจุบัน ไทยมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม 53,642 โรงงาน เป็นโรงงานแปรรูปผลิตผลทางเกษตรเบื้องต้น 43,725 โรงงาน โรงงานแปรรูปอาหาร 9,102 โรงงาน และโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 815 โรงงาน โดยมีมูลค่าการผลิตอาหาร 3 ล้านบาทต่อปี เป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี และส่งออกต่างประเทศ 1 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังพบว่า ไทยยังมีผลผลิตข้าวสารถึง 18.72 ล้านตันข้าวสาร ใช้บริโภคในประเทศ 8.66 ล้านตันข้าวสาร ในอุตสาหกรรมแปรรูป 1.56 ล้านตันข้าวสาร มีปลากระป๋องกำลังการผลิต 22,679 ตัน ต่อเดือน น้ำดื่ม กำลังการผลิต 444 ล้านลิตรต่อเดือน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กำลังการผลิต 10 ล้านซองต่อวัน และสามารถผลิตได้เพิ่มเป็น 15 ล้านตันต่อวันด้วย

ขณะที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท. มีความพร้อมที่จะแจกจ่ายเจลล้างมือให้กับประชาชนที่เข้ามาเติมน้ำมันที่สถานีบริการทั่วประเทศ โดยจะแจกจ่ายทุกวันจันทร์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีแอลกอฮอล์ที่พร้อมผลิตเป็นเจลทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ลิตรที่อยู่ในสต็อก โดยจะมีทั้งแจกจ่ายให้กับประชาชน และทางการแพทย์

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้เชื่อว่าภาคเอกชนมีกำลังการผลิตเพียงพอ และอยากให้ประชาชนสบายใจ และไม่ต้องกังวล เพราะสินค้าไม่ขาดตลาดแน่นอน

ด้านผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า และไวไว ยืนยันว่า มีกำลังการผลิตที่เพียงพอ แต่หากมีการปิดเมือง หรือ ปิดบางจังหวัด ต้องการให้ภาครัฐ ยืนยันว่า ระบบการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ในการส่งสินค้าจะยังสามารถดำเนินการได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งฝากให้รัฐพิจารณาผ่อนผันให้รถใหญ่สามารถส่งสินค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้

เช่นเดียวกับนายวรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการ CPF ที่ระบุว่า สินค้าจะไม่ขาดแคลนแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตเนื้อสัตว์ และไส้กรอก ประมาณ 1.2 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน และบริษัทมีขีดความสามารถในการกระจายสินค้าถึง 100 จุดทั่วประเทศผ่านรีเทล ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น โดยยืนยันว่า สำหรับประเทศไทย เรื่องอาหารไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

ขณะที่นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส CPALL ยืนยันว่า เซเว่นมีสาขากว่า 11,800 ทั่วประเทศ พร้อมให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและไม่ขาดแคลนแน่นอน

Back to top button