“สธ.” ย้ำ Social Distancing ลดยอดติดเชื้อ “โควิด-19”

"กระทรวงสาธารณสุข" ย้ำมาตรการ Social Distancing ช่วยลดยอดติดเชื้อไวรัส "โควิด-19" วอนประชาชนยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด


นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุ อยากขอความร่วมมือจากประชาชนให้กวดขันเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มากขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่

โดยวันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 127 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมอยู่ที่ 1,651 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย กลับบ้านได้แล้ว 215 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,299 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 23 ราย ทุกรายใช้เครื่องช่วยหายใจ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ราว 60-70% มีอายุเฉลี่ย 20-59 ปี ส่วนผู้เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว บางรายแม้ไม่มีโรคประจำตัวแต่ได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังเฝ้าดูกลุ่มผู้ให้บริการส่งอาหาร โดยขอให้ผู้ประกอบการดูแลเรื่องการรักษาความสะอาดของอาหาร และ Social Distancing ของพนักงานส่งอาหาร หากพบการฝ่าฝืนอาจถูกสั่งปิดร้าน

“แม้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ของไทยที่เพิ่มขึ้นราว 8% จะดูดีกว่าประเทศอื่น แต่อยากขอให้ประชาชนปรับพฤติกรรมเรื่อง Social Distancing ลดการสังสรรค์ก็จะลดการแพร่เชื้อได้ กระทรวงสาธารณสุขอยากได้สัก 90% จากที่เป็นอยู่ราว 70% แม้การแพร่ระบาดจะไม่เท่าในสหรัฐฯ และยุโรปแต่ไม่วางใจ ต้องทำต่อ วางใจไม่ได้” นพ.สุขุม กล่าว

ขณะที่พื้นที่ปลอดเชื้อโควิด-19 นั้น มีจำนวน 19 จังหวัด และในช่วง 7 วันมีจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ 4 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ ยโสธร ลพบุรี และสุโขทัย

สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตนั้น ปัจจุบัน กทม.จัดเตียงไว้ 2,000 เตียง ขณะที่มีผู้ป่วยราว 700 ราย มีเครื่องช่วยหายใจ 300 เครื่อง ใช้งานอยู่ 20 เครื่อง ส่วนในต่างจังหวัดจัดเตียงไว้ 10,000 เตียง ขณะที่มีผู้ป่วยราว 200 ราย และมีเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมทำแผนจัดสรรทรัพยากรเพื่อรองรับผู้ป่วยหนัก, การกระจายหน้ากากอนามัยวันละ 1.5 ล้านชิ้นเพื่อให้สำรองเพียงพอสำหรับการใช้งาน 30 วัน, การจัดหาหน้ากาก N95 เพิ่มเติมจากต่างประเทศ และการทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ, การจัดสรรยา ฟาวิพิราเวียร์ในกรุงเทพ 18,000 หมื่นเม็ด และต่างจังหวัด 18,000 หมื่นเม็ด สต๊อกส่วนกลาง 4,000 เม็ด

ด้านนพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้านั้น สธ.จัดทำขึ้นเพื่อใช้เตรียมความพร้อมรองรับหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายสุด โดยหวังให้มีการปรับเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

“การเอาตัวเลขมาขู่ให้คนกลัวไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ปิดบังข้อมูล มีมาตรการที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นคนไข้จะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล จะยิ่งเสียโอกาส วิธีการที่ถูกต้องคือให้ความจริง ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนมากที่สุดก็จะก้าวผ่านปัญหาไปได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Back to top button