ยังไม่ได้ข้อสรุป! “คลัง” นัดถก “ธ.ก.ส.” เคาะแนวทางเยียวยาเกษตรกร อีกครั้ง 14 เม.ย.นี้

"อุตตม สาวนายน" รมว.คลัง นัดหารือ "ธ.ก.ส." เคาะแนวทางเยียวยาเกษตรกร อีกครั้งในวันที่ 14 เม.ย. หลังวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกครั้งในวันนี้ (10 เม.ย.63)​ เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกร ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาอาชีพอิสระ ผ่านการลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น

ในวันนี้ยังไม่สามารถมีข้อสรุปที่ชัดเจนได้ โดยจะต้องหารือกันอีกครั้งในวันที่ 14 เม.ย.63 เนื่องจากยังมีข้อมูลอีกหลายตัวที่ต้องคุยกันให้ได้ข้อยุติเสียก่อน

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ยังไม่ได้มีการสรุปตัวเลขสำคัญที่จะดำเนินการ ทั้งวงเงินที่จะจ่ายให้เกษตรกร และวิธีการจ่ายเงินว่าจะจ่ายครั้งเดียวหรือทยอยจ่าย โดยมีการหารือกันเพียงว่าเกษตรกรกลุ่มใดบ้างที่จะเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา และจะใช้เกณฑ์อะไรในการประเมิน โดยการจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้ เป็นการเยียวยาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ

“มาตรการเยียวยาเกษตรกรยังมีเวลาในการพิจารณาอีกมาก เพราะมาตรการจะเริ่มดำเนินการได้หลังจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้ และจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาพิจารณาโครงการต่างๆก่อน ดังนั้น มาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกรนี้จะมีผลช้าหรือเร็ว จึงขึ้นอยู่กับการกู้เงินว่าจะผ่านเมื่อไร เพราะวงเงินที่ใช้ดำเนินการมาจากการใช้เงินกู้ทั้งหมด” นายอภิรมย์ ระบุ

โดยระหว่างนี้กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ต้องมาเตรียมข้อมูลว่าจะช่วยเกษตรกรอย่างไรบ้าง เนื่องจากมีข้อมูลหลายส่วน โดยจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และทุกส่วนงานที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาร่วมหารือ ในวันที่ 14 เม.ย.นี้

ทั้ง เบื้องต้น มีการประเมินว่ามีเกษตรกรที่เข้าข่าย 8.5 ล้านครอบครัว และหลักการที่จะจ่ายเงิน จะจ่ายเป็นครอบครัว ส่วนวงเงินที่จ่ายจะเป็น 15,000 บาทต่อครอบครัวหรือไม่นั้นต้องไปหารือในรายละเอียดก่อน แต่หลักการแล้วจะต้องไม่จ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน ซึ่งหากได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากอาชีพอิสระไปแล้วจะไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้อีก

อย่างไรก็ตามนายอภิรมย์ มองว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือเป็นครอบครัวจะตอบโจทย์ผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะสมาชิกในครัวเรือนบางส่วนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ จะกลับมาอยู่ที่บ้านต่างจังหวัด ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งการช่วยเหลือในส่วนนี้จะเป็นการเยียวยาระยะสั้นเท่านั้น

Back to top button