“พาณิชย์” เผย ทองคำ-สินค้าอุปโภคบริโภค หนุนส่งออกไทยไปอาเซียน ไตรมาสแรก โต 4.35%

"กระทรวงพาณิชย์" เผย ทองคำ-สินค้าอุปโภคบริโภค หนุนส่งออกไทยไปอาเซียน ไตรมาสแรก โต 4.35% สวนวิกฤต "โควิด-19"


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับการส่งออกทั่วโลก แต่การส่งออกของไทยไปอาเซียนในไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ยังคงขยายตัวถึง 4.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มีมูลค่ารวม 16,280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 251.1% ซึ่งมาจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยไปอาเซียนในไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่าสินค้าหลายกลุ่มยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเตรียมความพร้อมของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19 อาทิ เครื่องดื่ม ขยายตัว 3.1% ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัว 7.4% สิ่งปรุงรส ขยายตัว 17.3% อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ขยายตัว 34.4% และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัว 4.7%

รวมถึงสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม อาทิ น้ำตาลทราย ขยายตัว 13.9% ยางพารา ขยายตัว 13.6% ไก่แปรรูป ขยายตัว 11.5% ไข่ไก่สด ขยายตัว 52.1% และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ขยายตัว 137.2% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 1,079.36 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 25.4%

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้อาเซียน (AFTA) ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 พบว่า สินค้าที่อยู่ในกลุ่มที่ขยายตัวได้ดีข้างต้น เป็นสินค้าเดียวกันกับที่มีการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 อาทิ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย ใช้สิทธิฯมูลค่า 178.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38.29% นม UHT และนมถั่วเหลือง ใช้สิทธิฯมูลค่า 85.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว127.24% ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ของผสมที่ใช้ปรุงรส และของผสมที่ใช้ชูรสอื่นๆ ใช้สิทธิฯมูลค่า 27.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 20.05%

ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมดแล้ว ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางรายการ ส่วนไทยยังคงภาษีนำเข้าเนื้อมะพร้าวแห้ง เมล็ดกาแฟ ไม้ตัดดอก และมันฝรั่ง 5%

“ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดภาระต้นทุนทางภาษี เพิ่มมูลค่าการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ แม้จะเกิดวิกฤตที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของการค้าโลก จึงขอให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยขยายส่งออกได้เพิ่มขึ้น” นางอรมน กล่าว

อย่างไรก็ดี อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และเป็นทั้งตลาดส่งออกและตลาดนำเข้าอันดับที่ 1 โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับอาเซียนมีมูลค่า 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออก 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าถึง 17,880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากเปรียบเทียบสถิติการค้าในปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนมีเอฟทีเอกับปี 2562 พบว่า การค้าของไทยกับอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 976% การส่งออกขยายตัวถึง 1,301%

Back to top button