TK มองผลงานปี 63 ลดจากปีก่อน เซ่นโควิด-19 ฉุดสินเชื่อชะลอ

TK มองผลงานปี 63 ลดจากปีก่อน เซ่นโควิด-19 ฉุดสินเชื่อชะลอ


นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น มีผลต่อแนวโน้มธุรกิจของบริษัทที่ได้รับแรงกดดันเข้ามาพอสมควร ซึ่งมาจากผลกระทบการชะลอการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มครัวเรือน ที่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ส่งผลกระทบมาถึงตัวเลขยอดผลิตและยอดขายรถยนต์ที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยอดขายรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท

โดยในปี 63 บริษัทคาดว่าภาพรวมของผลการดำเนินงานทั้งปีจะปรับตัวลดลงจากปีก่อน หลังจากที่ผลกระทบโควิด-19 เริ่มเข้ามาบ้างในช่วงไตรมาส 1/63 ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อ รายได้ และกำไรของบริษัทลดลง โดยที่พอร์สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อหลักได้เห็นการปรับตัวลดลงมามากจากสิ้นปี 62 ที่ 11.7% มาอยู่ที่ 6.12 พันล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อรวมที่ 6.77 พันล้านบาท และคาดว่าในไตรมาส 2/63 จะเริ่มรับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาชัดเจนมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่เริ่มมีการล็อกดาวน์ประเทศในเดือนเม.ย ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ หยุดชะงักไปทั้งเดือน

นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการจัดเก็บหนี้ที่บริษัททำได้ลำบากมากขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทำให้ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาบริษัทไม่สามารถจัดเก็บหนี้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อรายได้ที่เข้ามาอาจปรับตัวลดลงได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการลดลงในไตรมาส 1/63 ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งเริ่มเห็นแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 1/63 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 5.7% และคาดว่าในไตรมาส 2/63 อาจจะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ แต่บริษัทจะพยายามควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมากเกินไป โดยที่ปัจจุบันบริษัทมีมาตรการต่าง ๆออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้า เพื่อทำให้ลูกค้ายังสามารถชำระหนี้ต่อไปได้

ส่วนการตั้งสำรองของบริษัทยังคงมีความแข็งแกร่งและเพียงพอรองรับกับสินเชื่อที่ปล่อยไป ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งสำรองไปค่อนข้างมากเกินเกณฑ์ TFRS9 แล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการตั้งสำรองที่ 7.54 พันล้านบาท และมี Coverage ratio ในอัตราที่สูงกว่า 170% ทำให้บริษัทถือว่ามีความแข็งแกร่งและมี่ความสามารถในการรองรับภาวะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง

ขณะที่การเข้าซื้อกิจการ เอ็มเอฟไอเอล (Myanmar Finance International Limited) หรือ MFIL ผู้ให้บริการสินเชื่อในเมียนมา  มูลค่าไม่เกิน 450 ล้านบาทนั้น บริษัทคาดว่าจะสามารถปิดดีลดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาส 3/63 ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถเดินทางเข้าไปทำดีลได้ เพราะเมียนมายังปิดประเทศอยู่ และไทยยังไม่เปิดน่านฟ้าให้บินระหว่างประเทศ ทำให้การทำดีลยังไม่สามารถเดินหน้าได้ แต่คาดว่าหลังจากนี้ที่มีการผ่อนคลายมาตรการลงจะสามารถเดินหน้าทำต่อไปได้ หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น โดยที่การซื้อ MFIL นั้นบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอในการทำดีลดังกล่าว ซึ่งไม่มีความกังวลในเรื่องของแหล่งเงินทุน

สำหรับการที่บริษัทเข้าซื้อ MFIL เข้ามาจะช่วยให้บริษัทสามารถเดินหน้าขยายตลาดสินเชื่อเช่าซื้อในเมียนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าการที่บริษัทเข้าไปรุกตลาดเอง ซึ่งบริษัทจะมีสาขาเครือขายของ MFIL ในเมียนมาเข้ามาเพิ่มอีก 13 สาขา และได้ฐานลูกค้าของ MFIL ที่มีอยู่ 55,000 รายเข้ามา รวมถึงการควบรวมงบการเงินของ MFIL ซึ่งมั่นใจว่าในปีนี้จะมีกำไร หลังจากมีการปรับโครงสร้างสินเชื่อ และตัดจำหน่ายหนี้เสียออกไปแล้ว และการปิดดีลในเมียนมา ซึ่งจะทำให้สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อต่างประเทศเพิ่มเป็น 30% ในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่ 23% โดยที่มีการทำธุรกิจในต่างประเทศ 3 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา และเมียนมา

แม้ว่าในปีนี้เราจะมีธุรกิจในเมียนมาเข้ามาเสริม แต่ยังไม่สามารรผลักดันผลงานในปีนี้ให้เติบโตได้ เพราะปีนี้ถือว่าการจะผลักดันการเติบโตทำได้ยากมาก หลังจากโควิด-19 เข้ามากระทบค่อนข้างแรง โดยเฉพาะการปล่ยสินเชื่อในไทยที่เป็นพอร์ตหลัก ทำให้ภาพรวมของธุรกิจกระทบไปด้วย โดยในไตรมาส 2 นี้น่าจะกระทบหนักที่สุด ส่วนครึ่งปีหลังก็ต้องดูว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปอย่างไร ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงว่าโควิด-19 ยังมีโอกาสระบาดรอบ 2 ได้”นายประพล กล่าว

ส่วนหุ้นกู้ของบริษัทในปี 63 ที่จะครบกำหนดอายุไถ่ถอน จะมีในช่วงเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้ วงเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทได้มีการเตรียมเงินรองรับไว้คืนหุ้นกู้ไว้ทั้งหมดแล้ว และยังมีเงินสดเพียงพอในการรองรับการดำเนินกิจการกว่า 940 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 1/63 ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถในการคืนเงินหุ้นกู้ได้ครบทุกคน

Back to top button