เช็กเลย! 14 กิจการ-กิจกรรม “ศบค.” ผ่อนปรน ระยะ 3 มีผล 1 มิ.ย.นี้

ที่ประชุม "ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19" มีมติให้ผ่อนปรน ระยะ 3 กิจการ-กิจกรรม ด้านการดำเนินชีวิตและสุขภาพ มีผล 1 มิ.ย.นี้!


พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (29 พ.ค.63)​ ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรม ระยะที่ 3 เพิ่มเติม ประกอบด้วย กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต และกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพและสันทนาการ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป

แต่ทั้งนี้ ทุกกิจการ/กิจกรรม ต้องปฏิบัติตามมาตรการดูแล คัดกรอง เข้มงวดทั้งพนักงานบริการและผู้ใช้บริการ และบางกิจการ/กิจกรรม ต้องจำกัดจำนวน และระยะเวลาของผู้เข้าใช้บริการ และต้องเพิ่มมาตรการการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทน

สำหรับกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย ระยะที่ 3 ในส่วนของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต มีดังนี้

1.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น.

2.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ จำกัดพื้นที่รวมไม่เกิน 20,000 ตร.เมตร และเปิดถึง 21.00 น.

3.สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง ยกเว้นการจัดกิจกรรมที่มีผู้คนมาชุมนุมหนาแน่นและไร้ระเบียบ

4.ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสำหรับบุรุษ-สตรี อนุญาตการทำสีผมได้ แต่ต้องให้บริการรายละไม่เกิน 2 ชม.และห้ามไม่ให้มีผู้นั่งรอในร้าน

5.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน จะเปิดเฉพาะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการนัดหมาย จัดสรร หรือแจกจ่ายเครื่องดื่มและอาหารกลางวัน รวมถึงเตรียมความพร้อมสถานที่ตามมาตรฐานสาธารณสุข

ส่วนกิจกรรมด้านการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ มีดังนี้

1.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

2.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า แต่ยังต้องงดการอบตัว อบสมุนไพร อบไอน้ำแบบรวม และนวดใบหน้า รวมทั้งยกเว้นกิจการอาบอบนวด

3.สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส จำกัดจำนวนผู้เล่นแบบรวมกลุ่ม และงดอบตัว และอบไอน้ำแบบรวม

4.สนามกีฬา เพื่อการออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล ยังไม่ให้มีการแข่งขัน และให้มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 10 คนไม่นับผู้เล่น

5.สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ตหรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นในลักษณะเดียวกัน จะให้เฉพาะการออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม

6.สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาส

7.สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ต จะต้องไม่เป็นการแข่งขันและจำกัดจำนวนผู้เล่น

8.โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ (เปิดเฉพาะลิเก ลำตัด การแสดงพื้นบ้าน) ต้องมีผู้เข้าชมไม่เกิน 200 คน เว้นระยะห่างในการนั่งชม และยังยกเว้นการจัดแสดงดนตรี และคอนเสิร์ต

9.สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ จำกัดผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่ม

ทั้งนี้ พล.อ.สมศักดิ์ ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าว มีความเสี่ยงในการแพร่โรคสูง แต่ทุกครั้งที่มีการเปิดหรือผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงนั้น สิ่งที่เราต้องทำมาตรการควบคู่กัน คือ การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การวัดไข้ และการจำกัดจำนวนผู้เข้ากิจกรรม และการล้างมือ ยังต้องทำตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ยังควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศไว้เข้มข้นเช่นเดิม เพราะแม้การจัดการในประเทศจะทำได้ดี แต่การนำเชื้อเข้ามายังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง การห้ามออกนอกเคหะสถาน จะผ่อนคลายตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็น 23.00 น. – 03.00 น. ผ่อนคลายให้ 1 ชม.

ขณะที่การเดินทางข้ามจังหวัด จะอนุญาตให้ทำได้ภายใต้ข้อกำหนดของแต่ละจังหวัด เพราะมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ถึงกับอนุญาตเสรีมากนัก และห้างสรรพสินค้าเปิดได้ถึง 21.00 น. ส่วนการเปิดสถานศึกษา ขอรับไว้พิจารณาก่อน และจะนำไปหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

ส่วนความจำเป็นที่ยังต้องมีการคงเคอร์ฟิวไว้ และไม่สามารถยกเลิกได้ในขณะนี้ พล.อ.สมศักดิ์ ชี้แจงว่า ในปัจจุบัน ศบค.ยังห้ามไม่ให้มีการดื่มสุราในร้านอาหาร แต่สามารถนำกลับไปดื่มที่บ้านได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันกรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มใช้โอกาสนี้ในการมั่วสุม หรือทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่โรคได้ จึงยังต้องบังคับใช้เคอร์ฟิวอยู่ต่อ

“เราทราบว่าการใช้เคอร์ฟิว หรือห้ามออกนอกเคหะสถานทำให้เกิดความไม่สะดวกสบาย แต่เป็นความจำเป็นต้องดำเนินการ อย่างน้อยในช่วงเวลานี้ แต่เราจะพยายามลดลงไปเรื่อยๆ ให้”

นอกจากนี้ พล.อ.สมศักดิ์ ยังระบุเพิ่มเติมว่า มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 นี้ เป็นมาตรการกลางที่ออกโดย ศบค. ซึ่งทุกจังหวัดจะต้องนำไปปฏิบัติเป็นบรรทัดฐาน แต่ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดอาจมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกำหนดมาตรการสำหรับกิจการ/กิจกรรมที่เข้มข้นกว่าได้ หากเห็นว่ามาตรการจาก ศบค.อ่อนไป ก็สามารถมีมาตรการเสริมออกมาได้

ส่วนการเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ นั้น พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งเปิดให้บริการแล้ว เช่น ศูนย์วัฒนธรรม โบราณสถาน ส่วนชายทะเลยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดท่องเที่ยวได้

อย่างไรก็ดี หากจะมีการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวสามารถทำได้ แต่แนะนำให้พกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเจ้าหน้าที่จะมีการสอบถามในแต่ละกรณีไป

Back to top button