VRANDA มั่นใจรายได้ปี 63 โต ยันคดีพิพาท “หัวหิน” ไม่กระทบเปิดโครงการ ธ.ค.นี้

VRANDA มั่นใจรายได้ปี 63 โต ยันคดีพิพาท “หัวหิน” ไม่กระทบเปิดโครงการ ธ.ค.นี้


นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้รวมของบริษัทในปีนี้ยังมั่นใจจะเติบโตสูงขึ้นจากปีก่อน แม้ว่าธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเข้ามาชดเชยทั้งในปีนี้ และปี 64 โดยคาดว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 จะกลับมาเติบโต หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปในไตรมาส 2/63 และจะค่อยๆ ฟื้นต่อเนื่องไปในไตรมาส 4/63

ทั้งนี้ จากภาพรวมของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย และความกังวลของประชาชนในเรื่องโควิด-19 ลดลงไปบ้าง ทำไห้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากการท่องเที่ยวของคนในประเทศ และมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐเข้ามาหนุน ทำให้ธุรกิจโรงแรมของบริษัทกลับมาเปิดให้บริการและนักท่องเที่ยวในประเทศเข้ามามาพักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รวมถึงมีการกลับมาโอนคอนโดมิเนียมในหัวหินเข้ามาเพิ่มขึ้น และร้านขนมหวานและเครื่องดื่มในเครือของบริษัทกลับมาเปิดสาขาควบคู่กับบริการเดลิเวอรี่ จะส่งผลให้แนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาส 3/63 กลับมาเติบโต หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปในไตรมาส 2/63 และจะค่อยๆฟื้นกลับมาต่อเนื่องไปในไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทีมงานทุกคนในการช่วยกันบริหารจัดการควบคุมและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆลงตามความเหมาะสม

รวมถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ลดการจ่ายเงินปันผลลงเหลือ 0.10 บาท/หุ้น และได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าของอาคารลดค่าเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานลง ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มสภาพคล่องในการรองรับในการดำเนินธุรกิจได้ดีอย่างต่อเนื่อง และบริษัทถือว่ายังมีภาระหนี้สินไม่สูง โดย ณ ไตรมาส 1/63 มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E ratio) เพียง 1.19 เท่า ทำให้บริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยไม่สูงมาก

นายวีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากสถานการณ์ควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาอย่างต่อเนื่อง และประชาชนในประเทศเริ่มออกมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง

โดยเฉพาะช่วงแรกของการผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้กับกับกรุงเทพฯที่สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้ฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะนหัวหินและพัทยาที่เป็นจังหวัดยอดนิยมที่ชาวกรุงเทพฯต้องการออกไปท่องเที่ยวจะนึกถึงเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ โรงแรมในเครือของ VRANDA ซึ่งตั้งอยู่ในหัวหินและพัทยา ได้แก่ วีรันดา รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน ชะอำ และวีรันดา รีสอร์ท พัทยา นาจอมเทียน ซึ่งเป็น 2 โรงแรมแรกที่ได้เปิดให้บริการในการผ่อนคลายระยะแรก ได้รับปัจจัยบวกทันที โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวในประเทศที่เดินทางเข้าพักโรงแรมทั้ง 2 แห่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนอัดอั้นในการใช้ชีวิตอยู่บ้านในช่วงล็อกดาวน์ตลอดทั้งเดือนเม.ย. ต่อเนื่องมาถึงพ.ค. และในเดือน ก.ค.ก็ยังคงมียอดจองที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการทำโปรโมชั่นในการให้ราคาพิเศษเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยว และชิงส่วนแบ่งตลาดในพื้นที่ของจังหวัดท่องเที่ยวนั้นๆ หลังจากที่ผู้ประกอบการโรงแรมต่างออกมาทำโปรโมชั่นแย่งชิงลูกค้า พร้อมกันนั้นบริษัทยังมีแคมเปญโปรโมชั่นสำหรับที่พักในเครือในจังหวัดที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯมากขึ้น เช่น วีรันดา ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่ และโรงแรม ร็อคกี้บูติค รีสอร์ท เพื่อเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวในระยะต่อไปที่เชื่อว่าจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไกลขึ้น

นอกจากนี้ จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ระหว่างวันที่ 18 ก.ค.-31 ต.ค.63 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในไตรมาส 3/63 ซึ่งเห็นได้จากยอดจองห้องพักโรงแรมในเครือของบริษัททั้งหัวหินและพัทยาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 18-19 ก.ค. 63) สูงกว่าที่บริษัทคาดไว้

อีกทั้งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกที่พักเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็น “แบรนด์ที่คนนิยม” ในการกลับมาท่องเที่ยว เนื่องจากมีการบริการที่มีมาตรฐาน และมีความมั่นใจในความปลอดดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“จะสังเกตุว่าหลังจากที่คนไทยเริ่มกลับมาท่องเที่ยวกัน แบรนด์ที่เป็นคนนิยม จะเป็นที่แรกๆที่คนเลือกเข้าพัก ซึ่งเห็นได้จากแบรนด์ดังๆหลายๆแบรนด์ที่มีคนเข้ามาพักในช่วงแรกเยอะมาก วีรันดาก็ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่คนนิยม อยากเข้ามาพัก เพราะคนชื่นชอบสไตล์การออกแบบที่มีเอกลักษณ์ การบริการ และความปลอดภัยที่เราใส่ใจเข้าไปทุกอย่าง ทำให้ลูกค้าที่เข้าพักประทับใจ และกลับมาพักอีกครั้ง จึงทำให้โรงแรมในหัวหินและพัทยาของวีรันดายังมีลูกค้าในประเทศเข้ามาพักต่อเนื่อง” นายวีรวัฒน์ กล่าว

สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ไปจนถึงปี 64 บริษัทยังมองว่าจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังไม่กลับมาเร็ว แต่ยังมีการขับเคลื่อนผ่านนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลักในช่วงครึ่งปีหลังนี้ถึงต้นปี 64 ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามมา เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมของบริษัท แต่อาจจะเร็วกว่าผู้ประกอบการรายอื่น เพราะโรงแรมของบริษัทได้รับอานิสงส์บวกจากการท่องเที่ยวจังหวัดใกล้กรุงเทพฯที่กลับมาเร็วกว่าจังหวัดที่ห่างจากกรุงเทพฯออกไปมาก

ทั้งนี้ VRANDA มีโรงแรมในเครือทั้งหมด 6 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ วีรันดา รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน ชะอำ, วีรันดาไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่, โซ โซฟิเทล แบงค็อก, วีรันดา รีสอร์ท พัทยา นาจอมเทียน และโรงแรม ร็อคกี้ บูติค รีสอร์ท สมุย และ 1 โรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ โรงแรม Verso หัวหิน

ส่วนโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการอาคารชุดพักอาศัย มี 2 โครงการ คือ Veranda Residence Hua-Hin และ Veranda Residence Pattaya และธุรกิจร้านขนมหวานและเครื่องดื่ม 4 แบรนด์ ได้แก่ Gram pancakes , Pablo Cheesetart, Skoop Beach Cafe และ KOF

ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมของการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่ยังมีแรงกดดันจากรายได้ธุรกิจโรงแรมที่หายไปในช่วงปิดทำการ 2 เดือนของการล็อกดาวน์ ถือเป็นแรงกดดันต่อรายได้โรงแรมของบริษัทในปีนี้ แต่ยังมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเข้ามาชดเชยในปีนี้และปี 64 จากการทยอยโอนโครงการ Veranda Residence Hua-Hin เข้ามาในปีนี้ ซึ่งเริ่มทยอยโอนมาตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และชะลอไปบ้างในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และกลับมาโอนเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.เป็นต้นมา

โดยโครงการ Veranda Residence Hua-Hin มียอดขาย 85% แล้ว คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้กว่า 1 พันล้านบาท จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาช่วยหนุนภาพรวมของรายได้ในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ และยังจะมีการโอนอย่างต่อเนื่องในปี 64 อีกกว่า 700-800 ล้านบาท ควบคู่ไปกับธุรกิจโรงแรมที่ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนโครงการ Veranda Residence Pattaya ยังมีเหลือขายและโอนอีกไม่มาก ซึ่งบริษัทจะทยอยขายและโอนอย่างต่อเนื่องในปีนี้เพื่อสร้างรายได้กลับมาให้กับบริษัท โดยลูกค้าประมาณ 95% ของโครงการเป็นลูกค้าคนไทย ดังนั้นผลกระทบจากการที่ลูกค้าต่างชาติเข้ามาโอนไม่ได้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากพิจารณาถึงผลตอบแทน จะเห็นได้ว่าโครงการ Veranda Residence Hua-Hin มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าโครงการ Veranda Residence Pattaya

ด้านธุรกิจร้านขนมหวานและเครื่องดื่มในเครือวีรันดาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องปิดบางสาขาไปชั่วคราว แต่ยังมีการขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่เข้ามาสนับสนุนยอดขายได้บ้าง โดยเฉพาะแบรนด์ Gram pancakes ที่สร้างยอดขายเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมด 4 แบรนด์ ได้แก่ Gram pancakes , Pablo Cheesetart, Skoop Beach Cafe และ KOF

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงปิดล็อกดาวน์มาถึงปัจจุบันยอดขายจากเดลิเวอรี่ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนในการสร้างยอดขายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และภายหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้เริ่มกลับมาเปิดครบทุกสาขาของทั้ง 4 แบรนด์ ซึ่งมียอดขายจากการทานในร้านเข้ามาเสริม แต่ยังไม่มากเท่ากับก่อนช่วงปิดโควิด-19 เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทานในสาขา แต่ธุรกิจร้านขนมหวานและเครื่องดื่มของบริษัทในภาพรวมยังมีกำไรเงินสดเป็นบวก และมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 6% ในไตรมาส 1/63 ของรายได้รวม จากปีก่อนที่ 2% หลังจากได้แบรนด์ Gram pancakes และ Pablo เข้ามาเสริมในปีนี้

ในช่วงครึ่งปีหลังการขยายสาขาของธุรกิจร้านขนมหวานและเครื่องดื่มจะเน้นการขยายสาขาในรูปแบบ Pop up store มากขึ้น เพราะเป็นสาขาที่สามารถหมุนเวียนไปยังห้างต่างๆ โดยเฉพาะห้างที่อยู่พื้นที่รอบนอกเมือง ระยะเวลาเฉลี่ยในการเปิด Pop up store ในห้างแต่ละแห่งราว 3-6 เดือน และใช้เงินลงทุนไม่มากหลักแสนบาท/สาขา จากการเปิดสาขาปกติที่ใช้เงินลงทุนสูงถึง 3-5 ล้านบาท/สาขา ซึ่งบริษัทมีแผนจะเปิดสาขา Pop up store แบรนด์ gram 1 สาขา และเปิดสาขาปกติอีก 1 แห่งในช่วงที่เหลือของปีนี้

พร้อมกันนั้น บริษัทยังมีการเจรจากับเจ้าของแบรนด์ Gram pancakes และ Pablo เพื่อซื้อเฟรนไชส์ของร้านขนมหวานในเครือเข้ามาเปิดไนประเทศไทยเป็นครั้งแรกเพิ่มอีก 1 แบรนด์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนช่วงปลายปีนี้-ต้นปี 64 เนื่องจากมองว่าธุรกิจร้านขนมหวานและเครื่องดื่มยังมีการแข่งขันไม่สูง ประกอบกับ ไลฟ์สไตล์ของคนเอเชียชื่นชอบทานของหวานคล้ายๆกัน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาชื่นชอบร้านขนมที่มีแบรนด์

นายวีรวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทเตรียมเดินหน้าลงทุนโครงการโรงแรมและที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมในอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต บนที่ที่ดิน 20 ไร่ ซึ่งบริษัทได้วางมัดจำที่ดินไว้แล้ว และเตรียมรับโอนที่ดินในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ และหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 3/64 และจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการช่วงไตรมาส 4/65

ทั้งนี้ บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารรายหนึ่งมาวงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ซื้อที่ดินพื่อพัฒนาโครงการในภูเก็ตราว 300 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะนำมาเสริมสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งบริษัทยังมองเห็นศักยภาพของการท่องเที่ยวในภูเก็ตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ และทำเลในอำเภอเมืองภูเก็ตถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพ ประกอบกับแบรนด์วีรันดาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

นายวีรวัฒน์ กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทที่ดินเนื่อที่ 53 ตารางวา ซึ่งเป็นหาดทรายและสวนใกล้กับคาเฟ่ของโรงแรม VERSO หัวหิน ข้างเขาตะเกียบ บนที่ดินทั้งหมด 3 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง บริษัทเชื่อมั่นว่าได้รับที่ดินมาอย่างถูกต้อง โดยหน่วยงานราชการเป็นผู้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวตั้งปี 22 และบริษัทได้ซื้อมาในปี 58 ดังนั้น บริษัทจะเดินหน้าต่อสู้คดีดังกล่าวอย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ศาลฎีกาสูงสุดได้มีคำพิพากษาฎีกาถึงที่สุดแล้วว่าการออกโฉนดที่ดินแปลงนี้เป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่คำพิพากษาของศาลปกครอง (ชั้นต้น) เมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้บริษัทมองว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด และบริษัทมั่นใจว่าไม่มีกระทบต่อการดำเนินการก่อสร้างโรงแรม Verso หัวหิน และไม่กระทบต่อกำหนดการเปิดให้บริการโรงแรมดังกล่าวในช่วงเดือนธ.ค. 63 อย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตั้งอาคารโรงแรม ทำให้การก่อสร้างโรงแรมยังดำเนินการได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทประเมินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากรณีพิพาทพื้นที่ 53 ตารางวา คิดเป็นมูลค่าราว 5 ล้านบาทหากแพ้คดี

“ข้อพิพาทในพื้นที่ 53 ตารางวา ของโครงการ Verso หัวหิน แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่เรามั่นใจในการดำเนินการทุกอย่างอย่างถูกต้อง และเดินหน้าต่อสู้เพื่อได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ดินดังกล่าวออกโฉนดมาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีคำพิพากษาจากศาลฎีกามาก่อนแล้วว่าดำเนินการถูกต้อง ทำให้เรามั่นใจความถูกต้องของโฉนด และไม่กระทบต่อแผนการพัฒนาโรงแรมและเปิดบริการโรงแรม Verso อย่างแน่นอน แต่ที่เราต้องออกมาชี้แจงก่อนหน้านี่ เพราะรูปที่ปรากฎในบางสื่อเป็นรูปโรงแรมวีรันดา รีสอร์ท ชะอำ-หัวหิน ซึ่งไม่ใช่โรงแรม Verso หัวหิน ทำให้คนเข้าใจผิด” นายวีรวัฒน์ กล่าว

สำหรับการพัฒนาโรงแรม Verso หัวหิน จำนวนห้องพัก 39 ห้อง มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท (รวมที่ดิน) ใช้เงินลงทุนส่วนหนึ่งจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เพื่อขยายตลาดในหัวหินเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการขยายโรงแรมแบรนด์ดังหลายรายเริ่มเข้าไปบริเวณเขาตะเกียบมากขึ้น เนื่องจากได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น

Back to top button