“ไพบูลย์” ชี้ไทยเสี่ยงเจอภาวะศก.ถดถอยซ้ำซ้อน แนะรัฐเร่งสปีด ออกมาตรการกระตุ้น-ทยอยเปิดปท.

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ชี้ไทยเสี่ยงเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน แนะรัฐเร่งสปีด ออกมาตรการกระตุ้น-ทยอยเปิดประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (15 ก.ย.63) นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Paiboon Nalinthrangkurn” แสดงความกังวลเศรษฐกิจไทย มีโอกาส Double-Dip (ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน) ถ้าไม่เร่งสปีด

ข้อความในเฟซบุ๊กนายไพบูลย์ ระบุว่า ประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถส่งต่อความสำเร็จด้านสาธารณสุขไปยังภาคเศรษฐกิจ ซี่งแม้จะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจทรุดตัวอีกรอบ หรือฟื้นตัวในรูปตัว “W” แทนที่จะเป็นตัว “U”

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ข้อแรก ถึงแม้รัฐบาลได้ออกมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเงินและการคลัง รวมมูลค่าถึง 2.3 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่า 15% ของ GDP แต่ความล่าช้าในการดำเนินมาตรการต่างๆ ทำให้เม็ดเงินไม่กระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากเท่าที่ควรและรวดเร็วเพียงพอ

ยกตัวอย่าง วงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนถึงวันนี้มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพียง 46,000 ล้านบาท

หรือโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของแบงก์ชาติ ก็มีการอนุมัติสินเชื่อไปแค่ 115,520 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 500,000 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการ SME เพียง 69,086 รายเท่านั้นที่ได้รับสินเชื่อจากโครงการนี้

ล่าสุด งบประมาณประจำปี 2564 ก็ดูเหมือนจะล่าช้าออกไป เพราะไม่น่าจะผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากรัฐสภาได้ทันภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งก็จะทำให้เม็ดเงินจากงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช้าลงด้วย

ถ้าทุกอย่างยังดำเนินการด้วยความล่าช้าแบบนี้ เราอาจได้เห็นเศรษฐกิจกลับมาถดถอยอีกครั้งในไตรมาสแรกหรือไตรมาสสองของปีหน้า

ข้อสอง เม็ดเงินรวมของมาตรการทั้งหมดอาจดูสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นวงเงินกู้และเงินเพื่อการเยียวยา ส่วนที่เป็นเม็ดเงินสำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมจากการปิดประเทศอีกไม่ต่ำกว่าหลายแสนล้านบาท

การรักษาวินัยการคลังถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในภาวะที่ไม่ปกติแบบในปัจจุบัน ภาครัฐจำเป็นต้องใช้จ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องยอมขาดดุลงบประมาณมากกว่าในปีปกติ เพราะรัฐคือกำลังซื้อหลักของระบบเศรษฐกิจในเวลานี้

ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐฯ น่าจะขาดดุลการคลังไม่ต่ำกว่า 16-17% ของ GDP ในปีนี้ (จากระดับปกติที่ 3-4%) และมีแนวโน้มจะขาดดุลอีกราว 9-10% ในปีหน้า

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลน่าจะขาดดุลการคลังราว 4% ของ GDP ในปีนี้ ส่วนในปีหน้า รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 623,000 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 3-4% ของ GDP นับเป็นการขาดดุลในระดับที่ไม่แตกต่างมากนักจากการขาดดุลในปีปกติ ซึ่งน่าจะไม่เพียงพอสำหรับการแก้วิกฤติครั้งนี้

ข้อสาม การควบคุมการระบาดของโควิดได้สำเร็จกลับกลายเป็นดาบสองคม เพราะแทนที่จะทำให้เราสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น กลับทำให้เรายิ่งไม่กล้าเปิดประเทศเพราะกลัวจะไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ดีเท่าเดิม

ประเทศที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอาจไม่จำเป็นต้องรีบเปิดประเทศ แต่ไทยมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 12% ของ GDP รวมทั้งมีผู้ประกอบการ SME ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวถึง 6 หมื่นราย และมีผู้ทำงานมากถึง 4 ล้านคน

แน่นอน ไม่มีใครอยากเห็นการแพร่ระบาดของโควิดรอบสองในประเทศ แต่ก็คงไม่มีใครอยากเห็นเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอยไปถึงปีหน้าเช่นเดียวกัน

การเริ่มเปิดประเทศด้วยการรับนักท่องเที่ยวประเภท Long-stay ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วยการทยอยรับนักท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ เช่น จากประเทศเสี่ยงต่ำแบบจำกัด โดยมีมาตรการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม แล้วขยายต่อไปยังกลุ่มอื่นๆ ก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ข้อสี่ จำนวนผู้ว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 3 ล้านคน หรือเกือบ 10% ของกำลังแรงงาน คืออีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงอีกรอบ

กล่าวโดยสรุป ผมเชื่อว่าเรายังสามารถป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวอีกรอบได้ ถ้ารัฐบาลเร่งผลักดันมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้วให้เห็นผลโดยเร็ว ด้วยการทบทวนวิธีปฏิบัติ หรือแก้ไขเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อลดข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลัง และทยอยเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

https://www.facebook.com/paiboon.nalinthrangkurn/posts/10214930783582726

Back to top button