“ตู่” ปัดยก “โควิด” ขู่ม็อบ ชุมนุมพรุ่งนี้ วอนเข้าใจเจตนารมณ์ ห่วงใยเยาวชนเหมือนลูกหลาน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ปัดยก “โควิด” ขู่ม็อบ นัดชุมนุมพรุ่งนี้ วอนเข้าใจเจตนารมณ์ ห่วงใยเยาวชนเหมือนลูกหลาน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วานนี้ (18 ก.ย.63) ว่า ไม่ได้ต้องการข่มขู่ใครทั้งสิ้น แต่มีความเป็นห่วง และอยากให้มองเจตนารมณ์ที่มีแต่ความห่วงใย ซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนต้องทำความเข้าใจและห่วงใยลูกหลานของตนเองว่าหากเกิดอะไรขึ้นจะรับมือได้หรือไม่ เพราะมีคนจำนวนมาก แม้รัฐบาลจะมีความพร้อมจะดูแลสถานการณ์ก็ตาม ดังนั้นเรื่องใดที่จะลดภาระเจ้าหน้าที่ได้บ้าง ก็ควรทำ เพราะเจ้าหน้าที่ก็เหน็ดเหนื่อย

ส่วนการลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดและปิดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย (Search and Rescue Exercise (SAREX)) ประจำปี 2563 ณ ค่ายพระรามหกในวันนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนทางการเมืองกับนักเรียน เพราะนักเรียนที่มาพบยังเด็กมาก ยังไม่เข้าใจหรือมีความรู้เรื่องการเมือง

ขณะที่แหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า กอ.รมน.ได้ประเมินสถานการณ์การจัดกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งเดิมกำหนดมีขึ้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า น่าจะเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนการจัดชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกที่เคยประกาศว่าจะจัดขึ้นอีกครั้งปลายเดือน ก.ย.นี้

สำหรับการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมราวกว่า 6 พันคนจากหลากหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ เครือข่ายนักศึกษาจาก กทม. และพื้นที่ใกล้เคียง คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 5,500 พันคน ได้แก่ สหภาพนักเรียนนิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.), กลุ่มนักเรียนเลว, กลุ่มเยาวชนปลดแอก, เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา เคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.), ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย, กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ เป็นต้น

ส่วนเครือข่ายนักศึกษาในส่วนภูมิภาคคาดว่าจะเข้ามาร่วมราว 300 คน ได้แก่ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย, กลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยกลุ่มแนวร่วมจากจังหวัดต่าง ๆ

นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ได้แก่ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มดาวดิน กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย กลุ่มประชาชนปลดกระดุม เป็นต้น, เครือข่ายนักอนุรักษ์ นักสิทธิมนุษยชน กลุ่ม NGOs ได้แก่ กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มอดีตผู้ต้องขับ ม.112 เครือข่ายสลัม 4 ภาค ฮิวแมนไรต์วอทช์ กลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ขบวนการอีสานใหม่, กลุ่มแรงงานที่ได้รับปัญหาความเดือดร้อน และคณะอาจารย์/นักวิชาการ

ทั้งนี้ คาดว่าผู้ชุมนุมอาจจะทดสอบการเคลื่อนไหวนำมวลชนสู่ถนน เดินไปยังแยกคอกวัว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บก.ทบ.และ/หรือ ทำเนียบรัฐบาล เหมือนการจัดกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ขณะที่มีกระแสข่าวว่านายอานนท์ อำภา ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน อาจจะนำมวลชนเข้าไปยังท้องสนามหลวงและประชุมยืดเยื้อจนถึงสว่างหากมีจำนวนมวลชนมากพอ

Back to top button