นักเศรษฐศาสตร์ มองศก.ไทย ปี 64 ฟื้นช้า แนะรัฐอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ กระตุ้นจีดีพี

นักเศรษฐศาสตร์ มองศเศรษฐกิจไทย ปี 64 ฟื้นช้า แนะรัฐอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ กระตุ้นจีดีพีขยายตัว-ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ


นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.ภัทร กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ว่า แนวโน้มในปี 2564 คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 7-8% นั้นเป็นเรื่องยาก หลังจากในปีนี้เศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ที่คาด -9% ถึง -7.5% นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

ทั้งนี้ คงต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 6-9 ล้านคน ลดลงจากเมื่อปี 61 ที่มีเกือบ 40 ล้านคน โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปี 64 จะขยายตัวที่ระดับ 2.5-4% ปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวล คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ การบริโภคภายในประเทศยังไม่คงที่ ขณะที่ตัวเลขการว่างงานอย่างเป็นทางการมีแค่ 2% แต่ยังมีตัวเลขผู้มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงานและผู้ที่มีชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งรวมกันแล้วมีราว 11 ล้านคน หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวก็อาจมีผลต่อการเลิกจ้างได้

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการใช้งบประมาณนั้นขอให้รัฐบาลคำนึงถึง 3 ข้อ คือ 1.การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่เกิดการรั่วไหล 2.สร้างความมั่นใจเรื่องวินัยการเงินการคลัง ไม่ส่งผลกระทบให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และ 3.มีแผนการจ่ายคืนหนี้ในอนาคตที่ชัดเจน เช่น การปรับโครงสร้างราชการเพื่อลดรายจ่าย แนวทางการหารายได้เพิ่ม

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตนั้นหากมองสถานการณ์ขณะนี้ คิดว่าโอกาสที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยคงไม่มีแล้ว ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศที่จะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 ซึ่งเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายกาเรงิน (กนง.) จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยเพิ่ม โดยจะเก็บไว้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาหากเกิดภาวะเศรษฐกิจแย่ลงอีก เช่น การระบาดระลอกสองที่มีความรุนแรง ส่วนปัญหาการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีนั้นเกิดมาก่อนที่จะมีวิกฤตโควิด-19 แล้ว แต่การปล่อยสินเชื่อยังมีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงของผู้ประกอบการ ซึ่งภาครัฐอาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้กับสถาบันการเงินมากขึ้นกว่าเดิม

การกำหนดทิศทางในอนาคตของประเทศนั้นควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล การกำหนดบทบาทตัวเองในเวทีโลก

“เราควรใช้โอกาสนี้ไม่ใช่แค่การซ่อมบ้าน แต่ต้องดูแลให้มี foundation ที่ดี” นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การส่งออกในปีนี้หดตัวติดลบหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวแบบวีเชฟ ซึ่งจะเห็นการฟื้นตัวจากมาตรการทางการเงินและการคลังที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยที่ต้องจับตามองคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่มีนโยบายต่อต้านจีน ซึ่งจะทำให้สงครามการค้ายืดเยื้อต่อไป โดยการส่งออกในปี 64 คาดว่าจะขยายตัวเกิน 5% เนื่องจากมีฐานที่ต่ำ แต่การเติบโตจะกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร

ปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจคือ เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมาก เนื่องจากเกินดุลการค้าเพราะยอดนำเข้าลดลง ซึ่งสะท้อนการลงทุนของภาคเอกชนในอนาคต

สำหรับทางรอดของเอสเอ็มอีนั้นนอกเหนือจากการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการควรหาโอกาสสร้างตลาดในอาเซียนเพิ่มเติมจากกำลังซื้อภายในประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาเวลาหดตัวจะมีความรุนแรงแต่ฟื้นตัวช้า ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า

ขณะที่นายชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐถือเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญที่เหลืออยู่และมีศักยภาพ ดังนั้นจะต้องกำหนดแนวทางในการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งให้หลายประเทศในอาเซียนพัฒนาตัวเอง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ปรับโครงสร้างภายในประเทศเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจะต้องให้เกิดความเหมาะสม เพราะมีสถานะเป็นที่คู่ค้าและคู่แข่ง

Back to top button