ด่วน! “ศบค.” เคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุม “โควิด” ยาว 45 วัน ถึง 15 ม.ค.64

ด่วน! “ศบค.” เคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยาว 45 วัน คาบเกี่ยวปีใหม่ สิ้นสุด 15 ม.ค.64


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ได้เห็นชอบให้มีต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีกเป็นครั้งที่ 8 โดยรอบนี้ได้ขยายเวลามากขึ้นเป็น 45 วัน คือ 1 ธ.ค.63 – 15 ม.ค.64 ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงการดูแลสถานการณ์ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ด้วย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นจะมีการจัดการแข่งขันแบดมินตันโลกขึ้นที่ประเทศไทย ทำให้มีความจำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับดูแลนักกีฬา และผู้ติดตามที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศด้วย

พร้อมยืนยันว่า เหตุผลในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปเพื่อต้องการควบคุมโรค และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเป็นสำคัญ

“รอบนี้เราขยายเวลาให้คร่อมในช่วงปีใหม่ด้วย คือ 1 ธ.ค.63-15 ม.ค.64 รวม 45 วัน เพราะในช่วงนี้จะมีการแข่งขันแบดมินตันโลก จะมีคนเดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการดูแลทั้งนักกีฬา และแขกต่างประเทศ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงการพิจารณาเรื่องการลดวันกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จาก 14 วัน เหลือ 10 วันว่า ที่ประชุม ศบค.ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างหลากหลายว่าการจะพิจารณาใช้เวลาการกักตัวเหลือ 10 วัน จะพิจารณาใช้กับกลุ่มประเทศใด และการกักตัวเหลือ 10 วัน + การติดตามตัวอีก 4 วันนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน รวมทั้งการลดเวลากักตัวเหลือ 10 วันจะสร้างความมั่นใจได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลของรายงานทางวิชาการระดับโลก ได้มีการศึกษาไว้ว่าการกักตัวในระยะเวลา 10 วัน กับ 14 วัน ให้ผลการทดสอบที่ไม่แตกต่างกัน แต่การระยะเวลาลงจะช่วยในการประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น เพียงแต่จำเป็นต้องมีการสื่อสารกับทุกภาคส่วนให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

ทั้งนี้ จากที่ยังมีหลากหลายความเห็น ที่ประชุม ศบค.จึงขอให้ถอนการพิจารณาในประเด็นนี้ออกไปก่อน โดยมอบหมายให้ ศบค.ชุดเล็ก ไปจัดทำรายละเอียดร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม และให้นำกลับมาเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่อีกครั้งในการประชุมเดือนธ.ค.63

“ได้ให้ถอนเรื่องนี้ออกไปก่อน และให้ ศบค.ชุดเล็ก ไปร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขลงรายละเอียดให้มากขึ้น ก็ให้ใช้เวลาในช่วงนี้ 2-4 สัปดาห์ไปหารือร่วมกัน แล้วนำกลับมาเสนอในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่อีกครั้งในเดือนธ.ค.” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

พร้อมย้ำว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงใช้มาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ 14 วันตามเดิม ในขณะที่หลายประเทศเริ่มลดระยะเวลาการกักตัวลงเหลือ 10 วัน แต่การที่จะให้เกิดความเชื่อมั่นมากกว่านี้ว่าลดเวลากักตัวแล้วจะมีความปลอดภัยต่อคนในประเทศ ก็ต้องรอให้ทางศบค.ชุดเล็กและกระทรวงสาธารณสุข ไปทำรายละเอียดและรูปแบบการกักตัวมานำเสนออีกครั้ง

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกรณีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวบริเวณชายแดนเข้ารับการกักตัวใน Organizational Quarantine ว่า เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยที่บริเวณชายแดน เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงในการติดโควิด-19 เพื่อเป็นการป้องกันประชาชนคนไทยในพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จึงเห็นสมควรให้มีการกักกันแรงงานต่างด้าวที่มีความเสี่ยงสูงใน Local Quarantine (LQ) หรือ Organization Quarantine (OQ) แต่ปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวบริเวณชายแดนไม่สามารถเข้ารับการกักตัวใน LQ ได้ เพราะไม่มีระเบียบทางราชการกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งแรงงานต่างด้าวไม่สามารถเข้ารับการกักตัวใน Alternative Local Quarantine (ALQ) ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

ดังนั้น ที่ประชุม ศบค.จึงอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย สามารถเข้ารับการกักกันใน OQ ที่ส่วนราชการกำหนดหรือจัดตั้งขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันประชาชนคนไทยในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิดในกรณีที่พบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ติดเชื้อโควิด-19

“มีการพูดกันว่าในขอบชายแดน แทนที่จะดูแค่คนที่เดินทางไป-กลับ แต่ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีประวัติทำงานกับเรา แล้วมีการติดเชื้อขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เขากลับบ้าน แล้วนำเชื้อไปติดที่บ้าน จึงไม่ควรเลย แต่ควรนำเขาเข้ามาสู่ Organization Quarantine ดีกว่า ซึ่ง ศบค.จึงอนุมัติให้ในพื้นที่ชายแดน สามารถใช้มตินี้นำไปสู่การใช้งบประมาณที่ทำให้มี OQ สำหรับแรงงานต่างด้าวได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดูแลแรงงานของเขาได้” โฆษก ศบค.ระบุ

Back to top button