“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ พ.ย. ติดลบน้อยสุดรอบ 9 เดือน คาดปีหน้า ขยายตัว 1.2 %

“กระทรวงพาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ พ.ย. ติดลบน้อยสุดรอบ 9 เดือน คาดปีหน้า ขยายตัว 1.2%


นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ย. 2563 อยู่ที่ 102.19 หดตัว -0.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -0.45% และหดตัว -0.04% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.63 ขณะที่ CPI ช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เฉลี่ยหดตัว -0.90%

ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการหดตัวในอัตราน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาฐาน ปีที่ผ่านมาต่ำ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังคงหดตัว แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.95 ขยายตัว 0.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% จากเดือน ต.ค.63 ส่วน 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) Core CPI เฉลี่ยยังเป็นบวก 0.29%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 106.32 ขยายตัว 1.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.23% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.87 หดตัว -1.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 0.07% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.63

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนธ.ค. คาดว่า จะหดตัวน้อยลง โดยคาดว่าทั้งปี 63 หดตัว -0.87%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับปี 2564  สนค.คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2 % ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจาก การปรับตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ดีขึ้น การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่มีต่อเนื่อง  และตัวเลขฐานปี 2563 อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสองในหลายประเทศ

Back to top button