“โควิด-19” มรสุมปี 63 ฉุดนักท่องเที่ยวลดวูบ ซัดผลงาน “แอร์ไลน์-โฮเทล” อ่วม!

"โควิด-19" มรสุมปี 63 ฉุดนักท่องเที่ยวลดวูบ ซัดผลงาน "แอร์ไลน์-โฮเทล" อ่วม!


นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันทั่วโลกประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจสายการบิน และโรงแรม ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยตัดสินใจล็อคดาวน์ประเทศ เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวหดตัวลงอย่างมาก และทำให้มีการยกเลิกเที่ยวบิน รวมถึงยกเลิกห้องพักเป็นจำนวนมาก

โดยสถานการณ์การระบาดในไทยครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางเดือนมี.ค.2563 ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อกลุ่มผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงและสนามมวย ก่อนจะกลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2563 ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และมีความเกี่ยวโยงกับตลาดซื้อขายอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาคร

ทั้งนี้กลุ่มท่องเที่ยว และโรงแรมถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้นักลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการลงทุน ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงรวมรวบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มธุรกิจสายการบิน และโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยข้อมูลจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา (ข้อมูลเบื้องต้น ณ วันที่ 30 พ.ย.2563) พบว่า ตั้งแต่เดือนม.ค. – ต.ค.2563 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 6.70 ล้านคน ลดลง 25.89 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ 79.46 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางในประเทศสะสมจำนวน 65.19 ล้านคน-ครั้ง หดตัวร้อยละ 52.35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามจากการสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า ในช่วงเดือนเม.ย. – ก.ย.2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ขณะที่ในเดือนต.ค. 2563 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (STV) กลุ่มแรกได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ ประกอบกับ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ ผู้เข้าร่วมประชุม และนักกีฬา จำนวน 1,201 คน

ทั้งนี้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจสายการบินลดลง โดย “ผู้สื่อข่าว” ได้รวบรวมบจ.ที่ได้รับผลกระทบส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนสุทธิ มาดังนี้

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 671.48 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 497.20 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 1.14 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 137% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 482.48 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 1.84 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 341% จากไตรมาส 3/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 416.63 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 3.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 808% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 401.91 ล้านบาท

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 338.56 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 504.33 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 2.97 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 329% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 693.90 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 1.57 พันล้านบาท จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 58.05 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 4.88 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,612% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 131.53 ล้านบาท

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 2.33 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 666% จากไตรมาส 1/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 304.15 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 139.25 ล้านบาท ลดลง 80% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 700.44 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 1.47 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 624.41 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 3.94 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 144% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 1.62 พันล้านบาท

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกผลขาดทุนสุทธิ 2.27 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 445.44 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 5.34 พันล้านบาท ลดลง  22% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 6.88 พันล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 2.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 360% จากไตรมาส 3/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 4.96 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 346% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 1.11 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ข้อมูลจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ยังพบว่า ตั้งแต่เดือนม.ค. – ต.ค.2563 อัตราการเข้าพักของสถานพักแรม (รวมทั้งประเทศ) หดตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเดือนเม.ย. – พ.ค.2563 โดยที่มีอัตราเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 2.26 และ 3.83 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ 97.06 และ 94.49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สำหรับสาเหตุหลักที่ส่งผลให้อัตราเข้าพักแรมปรับตัวลง มาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยกเลิกการเข้าพัก และเลื่อนการเดินทางท่องเที่ยวออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจโรงแรม โดยส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงอย่างหนัก ดังตารางประกอบ

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 108.22 ล้านบาท ลดลง 51% จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 221.43 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 876.84 ล้านบาท จากไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 110.23 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 620.44 ล้านบาท จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 185.80 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 1.39 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรทุนสุทธิ 517.46 ล้านบาท

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 45.12 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 825.91 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 465.49 ล้านบาท จากไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 232.42 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 897.42 ล้านบาท จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 214.99 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 1.41 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรทุนสุทธิ 1.27 พันล้านบาท

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 82.12 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 0.83 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 453.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,926% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 22.37 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 342.29 ล้านบาท จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 72.93 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 877.67 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรทุนสุทธิ 51.40 ล้านบาท

บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 102.50 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 234.60 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 325.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,475% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 7.29 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 513.95 ล้านบาท จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 42.64 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 1.24 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรทุนสุทธิ 269.95 ล้านบาท

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 1.73 พันล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 583.14 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 8.45 พันล้านบาท จากไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 1.79 พันล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 5.60 พันล้านบาท จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 4.56 พันล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 1.58 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรทุนสุทธิ 6.93 พันล้านบาท

บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกกำไรสุทธิ 235 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 45.35 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 810.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 418% จากไตรมาส 2/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 156.53 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 599.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 512% จากไตรมาส 3/62 มีผลขาดทุนสุทธิ 98 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1.18 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 292% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 299.87 ล้านบาท

บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 18.76 ล้านบาท ลดลง 68% จากไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 58.11 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 1.38 ล้านบาท ลดลง 86% จากไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 10.09 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 8.56 ล้านบาท จากไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 10.30 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 มีกำไรสุทธิ 11.58 ล้านบาท ลดลง 85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรทุนสุทธิ 78.50 ล้านบาท

ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดย Economic Intelligence Center (EIC) วิเคราะห์ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มกลับมาส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง โดยเหตุการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดที่จังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งพบผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 1,356 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ธันวาคม) นั้น ข้อมูลการเดินทางของ Facebook ก็ลดลงทันทีเช่นกัน โดย 1 วันหลังการแพร่ระบาด ข้อมูลการเดินทางของ Facebook ของสมุทรสาครลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 23.9 percentage point ซึ่งสูงกว่ากรณีของระยอง (ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 2.0 percentage point) และเชียงราย (ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 0.4 percentage point)

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดครั้งนี้อาจมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงมากกว่ากรณีของระยองและเชียงราย เนื่องจาก (1) มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการติดตามและควบคุม (2) มีการเกี่ยวข้องกับตลาดค้าส่งอาหาร ซึ่งทำให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีการขยายตัวเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด และ (3) อาจส่งผลต่อภาคการผลิตอื่น ๆ นอกจากภาคการท่องเที่ยว เช่น ภาคการผลิตอาหาร ภาคการก่อสร้าง และการค้าชายแดน ดังนั้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่นี้จึงมีความรุนแรงมากกว่า 2 เหตุการณ์ที่ผ่านมา

ดังนั้น EIC มองว่าธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 ยังมีอีกหลายความท้าทาย อันประกอบไปด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นความท้าทายที่จะยังมีอยู่จนกว่าการได้รับวัคซีนจะเกิดขึ้นในวงกว้าง EIC ประเมินว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างและเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่ไทยน่าจะมีการเริ่มฉีดในช่วงกลางปีหน้า และจะเข้าสู่ภาวะคุ้มกันหมู่ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565

โดย EIC คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ราว 8.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง EIC มองว่า ถึงแม้จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ไทยจะได้รับวัคซีน แต่ภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวก็ควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงแก่บุคลากรภาคการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนและสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงการวางระบบตรวจสอบข้อมูลด้านสุขอนามัยและข้อมูลการฉีดวัคซีนที่อาจจำเป็นมากขึ้นในการท่องเที่ยวในช่วงหลังจากนี้

2.กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่ซบเซา เป็นปัจจัยที่เกิดจากผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการประคับประคองการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไปอีกระยะหนึ่ง

3.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เช่น ความระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยที่เพิ่มมากขึ้น การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด การมองหาโปรโมชันที่จูงใจ คุ้มค่ากับราคาในภาวะที่กำลังซื้อมีจำกัด

4. ภาวะการแข่งขันระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวด้วยกันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านการลดราคาและการนำเสนอโปรโมชันจูงใจต่างๆ ที่น่าจะยังมีอยู่ต่อไปในภาวะที่อุปสงค์การเข้าพักต่ำลงจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่อุปทานห้องพักมีเท่าเดิม จนกว่าจะเริ่มมีปัจจัยสนับสนุนด้านความต้องการเข้าพักจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา

ทั้งนี้ “ผู้สื่อข่าว” มองว่า ในปี 2564 ยังเป็นปีที่ต้องเกาะติดสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด หากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศ และต่างประเทศลดลง รวมถึงหากสามารถนำวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศได้เร็วๆ นี้ จะส่งผลให้ทางรัฐบาลเริ่มเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยหนุนภาพรวมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมฟื้นตัวได้อีกครั้ง แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ในปี 2564 นี้หุ้นกลุ่มสายการบินและโรงแรมจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกปีหนึ่ง

Back to top button