PIMO พุ่งกระฉูด12% รับผนึก “จีพี มอเตอร์ฯ” ลุยวิจัยมอไซค์ไฟฟ้า ลุ้นกำไรปีนี้นิวไฮ!

PIMO พุ่งกระฉูด12% รับผนึก “จีพี มอเตอร์ฯ” ลุยวิจัยมอไซค์ไฟฟ้า ลุ้นกำไรปีนี้นิวไฮ!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO ณ เวลา 10.57 น. อยู่ที่ระดับ 3.78 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 11.83%  ด้วยมูลค่าซื้อขาย 203.79 ล้านบาท ราคาหุ้นนิวไฮในรอบเกือบ 2 ปี โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ3.82 บาท เมื่อวันที่ 5 เม.ย.62

โดยล่าสุดวานนี้(25มี.ค.64) บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO แจ้งว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนามอเตอร์สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กับ บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบรนด์ GPX เพื่อร่วมกันพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพและคุณภาพที่ดีในราคาที่สามารถแข่งขันได้ โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถผลิตได้จริงในไตรมาส 4/2565

ขณะที่ก่อนหน้านี้นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทประเมินรายได้รวมน่าจะเติบโตที่ระดับ 20% จากปี 2563 เนื่องจากปัจจุบันมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioning Motor : AC) และมอเตอร์ดีซีไร้แปลงถ่าน (Brushless DC Motor : BLDC) ซึ่งเป็นมอเตอร์ชนิดพิเศษที่ช่วยประหยัดไฟฟ้า มีคำสังซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยอดคำสั่งซื้อสูงมาก นอกจากนี้ประเมินแนวโน้มรายได้และกำไรในปี 2564 จะเติบโตจากปี 2563 เพราะมีออเดอร์มอเตอร์ AC และมอเตอร์ BLDC ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันมีคำสั่งซื้อมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มเป็นกว่า 90,000 ลูกต่อเดือน จากเดิมที่มีคำสั่งซื้อเพียง 66,000 ลูกต่อเดือน ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้วเกือบ 80,000 ลูกต่อเดือน ส่วนในเดือนมีนาคม 2564 มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้วเกือบ 70,000 ลูกต่อเดือน ดังนั้นบริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2564 น่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการขายจากการส่งออก (ยอดขายต่างประเทศ) ในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 59% จากปีก่อนที่มีสัดส่วนยอดขายต่างประเทศอยู่ที่ 49% ส่วนยอดขายภายในประเทศจะมีสัดส่วนลดลงอยู่ที่ระดับ 41% จากปี 2563 ที่มีสัดส่วน 51% อย่างไรก็ตามแม้สัดส่วนยอดขายภายในประเทศจะลดลง แต่จำนวนยอดขายภายในประเทศยังคงเติบโตขึ้น

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า บริษัทมีโอกาสที่จะขยายตลาดต่างประเทศได้อีกมากในอนาคต โดยปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้บุกตลาดต่างประเทศอย่างเต็มที่ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของกำลังการผลิต ซึ่งปัจจุบันในประเทศออสเตรเลียมีโรงงานผลิตที่ต้องใช้มอเตอร์จำนวน 8 โรง เป็นลูกค้าของ PIMO จำนวน 6 โรง และมียอดขายรวมประมาณ 400-500 ลูกต่อวัน ขณะที่โรงงานประเภทดังกล่าวในสหรัฐอเมริกามีจำนวนมากถึง 18 โรง ปัจจุบันเป็นลูกค้าของ PIMO เพียง 1 โรง ซึ่งหากบริษัทมีความพร้อมทางด้านกำลังการผลิต บริษัทจะเข้าไปนำเสนอสินค้าทันที และมีโอกาสที่จะได้รับออเดอร์จากลูกค้าที่มากขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน ในปี 2564 บริษัทมีแผนลงทุนสร้างโรงเก็บวัตถุดิบ จำนวน 1 โรง ขนาดพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร จากเดิมที่มีเพียง 2,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) เบื้องต้นคาดใช้งบลงทุน 30 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และมีแผนลงทุนโรงงานเก็บสินค้าสำหรับลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ขนาด 5,000 ตารางเมตร หลังมียอดคำสั่งซื้อคงที่ที่ประมาณ 8,000-9,000 ลูกต่อเดือน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อที่ดิน คาดว่าเจรจาแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2564 เบื้องต้นคาดใช้งบลงทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างรวมประมาณ 50-60 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีที่มีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมาร์จิ้นที่ดีให้กับสินค้า และมีการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งบนหลังคาโรงงานแล้วขนาด 1 เมกะวัตต์ (MW) สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 400,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งเพิ่มอีก จำนวน 3 เมกะวัตต์ บนหลังคาโรงงานในปัจจุบัน

รวมทั้งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาพัฒนาและผลิตมอเตอร์สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า) ร่วมกับบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน อีกทั้งบริษัทยังมีแผนจะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับพนักงาน และในอนาคตบริษัทจะยื่นขอรับสิทธิ์ต่าง ๆ จากกรมส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินค้าในอนาคต

Back to top button