เช็กเลย! 7 แบงก์คลอดมาตรการพักหนี้ 2 เดือน หนุน “SME-รายย่อย” สู้โควิดระลอก 3

เช็กเลย! 7 แบงก์คลอดมาตรการพักหนี้ 2 เดือน หนุน "SME-รายย่อย" สู้โควิดระลอก 3 ชู KBANK ผุด "เงินกู้สู้ไปด้วยกัน" ดอกต่ำ 3% พักเงินต้น 3 เดือน ช่วยร้านอาหาร-ร้านค้าย่อย-"ออมสิน" ปล่อยสินเชื่ออิ่มใจ กู้ได้รายละ 1 แสนบาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน


จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง 10 จังหวัด ขณะที่หลายกิจการต้องปิดชั่วคราวหรือปิดทำการเร็วขึ้นตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เป็นเหตุให้ประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถชำระหนี้กับธนาคารต่าง ๆ ได้ แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

ล่าสุดกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้จัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมมาตรการพักหนี้ของแต่ละธนาคารมานำเสนอ อาทิ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY),ธนาคารกรุงเทพ (BBL),ธนาคารกสิกรไทย (KBANK),ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ,ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB,ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.),ธนาคารออมสิน ดังข้อมูลระบุไว้ดังนี้

BAY ออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือ SME พักเงินต้น-ดอกเบี้ย 2 เดือน เริ่ม ก.ค.นี้

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ได้มีการหารือร่วมกันกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาแนวทางเร่งด่วนในการช่วยเหลือที่ตรงจุดและรวดเร็ว จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือใหม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม สามารถพักชำระหนี้ได้เป็นระยะเวลา 2 เดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เริ่มได้ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป

สำหรับ SME ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่ต้องปิดกิจการในพื้นที่ควบคุมฯ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมถึง SME นอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ และ SME ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมจนทำให้ยอดขายลดลงแม้ไม่ปิดกิจการ ธนาคารก็พร้อมให้ความช่วยเหลือในรูปแบบมาตรการอื่นๆ ที่มีอยู่ตามความเหมาะสมของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ การพักชำระเงินต้น  พักชำระค่างวด ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับประเภทวงเงินสินเชื่อ

ลูกค้า SME ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ละรายจะได้รับการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.64 เป็นต้นไป โดยมีแนวทางการเรียกเก็บเป็นไปตามนโยบายธนาคาร และอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ธนาคารให้การพักชำระหนี้ เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ มิใช่อัตราดอกเบี้ยผิดนัด และการพักชำระหนี้นี้ไม่ถือเป็นเหตุแห่งการผิดนัดเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญา และไม่ถือเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือจะต้องเป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SME ของธนาคารที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิดที่ต้องปิดกิจการในพื้นที่ควบคุมฯ 10 จังหวัด รวมถึงที่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมฯที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ  เช่น ร้านนวด-สปา ร้านเสริมความงาม ร้านขายของในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น และไม่มีสถานะเป็น NPL ณ วันที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถขอเข้าร่วมโครงการผ่านช่องทางต่างๆของธนาคารได้ตั้งแต่ 19 ก.ค.-15 ส.ค.64

 

BBL เปิดรับลงทะเบียน SME-รายย่อย 10 จ.ปิดกิจการขอพักหนี้ 2 เดือน

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดกรอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ธนาคารจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่ลูกค้า ด้วยการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยสามารถลงทะเบียนเข้าขอรับมาตรการดังกล่าวผ่านหลากหลายช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ถึง 15 สิงหาคม 2564

สำหรับลูกค้าที่ยังสามารถเปิดดำเนินกิจการ แต่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและนำเสนอความช่วยเหลือตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าอย่างเต็มที่

ในส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ออกมาก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังคงดำเนินมาตรการที่สามารถรองรับลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม และได้ขยายระยะเวลาไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและทันเวลา ทุกครั้งเมื่อมีการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ก็จะเข้าไปศึกษาผลกระทบและเตรียมแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือให้คลอบคลุมเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารยังมีมาตรการปกติที่เตรียมพร้อมเข้ามาช่วยดูแลหลังจากผ่านช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ลูกค้าสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้

 

KBANK ผุด “เงินกู้สู้ไปด้วยกัน” ดอกต่ำ 3% พักเงินต้น 3 เดือนช่วยร้านอาหาร-ร้านค้าย่อย

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ออกโครงการพิเศษ “เงินกู้สู้ไปด้วยกัน” อนุมัติง่าย อัตราดอกเบี้ย 3% พักชำระเงินต้น 3 เดือน วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท ไม่ต้องมีหลักประกัน ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็กู้ได้ เพียงเดินบัญชีกับธนาคาร สมัครทางออนไลน์ง่ายและสะดวกที่เว็บไซต์ของธนาคารฯ เพื่อช่วยให้ร้านอาหารและร้านค้ารายย่อยมีเงินทุนในการทำธุรกิจ มีความหวังและกำลังใจในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ธนาคารยังสนับสนุนให้ร้านค้าเพิ่มช่องทางการขายได้บน K+ market ในแอป K PLUS ของธนาคาร รวมถึงการทำกิจกรรมช่วยโปรโมตร้านผ่านสื่อต่างๆของธนาคาร และร่วมมือกับเพจออนไลน์ชื่อดัง เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายสร้างรายได้ให้แก่ร้านค้า ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ธนาคารยังขานรับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการของทางการ ด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 2 เดือน โดยเริ่มการพักชำระตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค. 64 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าของธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน ทั้งการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการเงิน รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องจากการออกโครงการพิเศษเพื่อช่วยร้านอาหารและร้านค้ารายย่อยในครั้งนี้ ธนาคารฯ คาดหวังว่าจะช่วยร้านค้ารายย่อยให้เข้าถึงเงินกู้ได้ 35,000 ราย โดยเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ 3.5 พันล้านบาท

 

KTB ขานรับธปท.พักชำระหนี้ SME-รายย่อย 2 เดือน ชู 7 มาตรการบรรเทาโควิด

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบและความจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ของทางการ จึงได้ออกมาตการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

มาตรการนี้สำหรับลูกค้าธนาคารที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค.64 เป็นต้นไป โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยลูกค้าเอสเอ็มอี-รายย่อยที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.-15 ส.ค. 64 ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือหน่วยงานที่ดูแลสินเชื่อ

มาตรการลูกค้าบุคคล 3 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1  สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน  (สินเชื่อ Home for Cash, สินเชื่อ Home Easy Cash, สินเชื่อกรุงไทยบ้านให้เงิน) วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยบางส่วน สูงสุด 12 เดือน หรือ ขยายระยะเวลาโดยลดอัตราผ่อนชำระ สูงสุด 12 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน

มาตรการที่ 2 สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ลดการผ่อนชำระค่างวดลง 30% นานสูงสุด 6 เดือน

มาตรการที่ 3  สินเชื่อวงเงินกู้แบบหมุนเวียน (Revolving Loan) ได้แก่ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ 5 Plus ปรับเป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ได้นาน 48 งวด หรือตามความสามารถในการชำระหนี้

มาตรการลูกค้าธุรกิจ 4 มาตรการดังนี้

มาตรการที่ 1 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี

มาตรการที่ 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEลูกค้าที่มีสินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท  สำหรับสินเชื่อประเภท Term Loan  พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน หรือ ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 24 เดือน สำหรับสินเชื่อประเภท P/N และTrade Finance  ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน

ลูกค้าที่มีสินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้ 20-500 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อประเภท Term Loan  พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน  สำหรับสินเชื่อประเภท P/N และTrade Finance  ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน

มาตรการที่ 3 มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราวในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชำระหนี้และให้สิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคตในราคารับโอนบวกต้นทุนการถือครองทรัพย์ (Carrying Cost) 1% ต่อปี บวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าทรัพย์หลังตีโอนที่ลูกค้าชำระมาแล้ว

มาตรการที่ 4 โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงิน 50-500 ล้านบาท โดยพิจารณา ตามความสามารถและศักยภาพของลูกค้า เช่น ปรับลดการผ่อนชำระ ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ตลอดจนการเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่มีแผนธุรกิจชัดเจนภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร

 

SCB คลอดมาตรการช่วยเหลือพิเศษ พักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย 2 เดือน 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ออกมาตรการช่วยเหลือพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ (ตามมาตรการของ ธปท.) โดยทำการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ

มาตรการช่วยเหลือพิเศษ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน ทั้งลูกค้าสินเชื่อรายย่อย และ SME ประกอบด้วย บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย และสินเชื่อธุรกิจ

ใครมีสิทธิ์

-ลูกค้าในเขตพื้นที่ควบคุมฯ ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้างในสถานประกอบการที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้

-ลูกค้านอกเขตพื้นที่ควบคุมฯ ที่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเปิดกิจการได้ เช่น ร้านนวด-สปา ร้านเสริมความงาม ร้านขายของในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

เงื่อนไข

-ลูกค้ามีหน้าที่พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ศบค. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารกำหนด

-ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ณ วันลงทะเบียนแจ้งขอพักชำระหนี้ 2 เดือน

-เงินต้นและดอกเบี้ยที่คิดในช่วงพักการชำระหนี้ยังคงคำนวณในอัตราปกติ

-การพิจารณาอนุมัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด

ช่องทางลงทะเบียน-แอปฯ SCB EASY (เฉพาะลูกค้าบุคคล) หรือระบบอัตโนมัติ SCB Call Center โทร. 02-777-7777 หรือผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ที่ดูแลลูกค้าลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2564

ข้อมูลเพิ่มเติม SCB Call Center โทร. 02-777-7777,ธนาคารไทยพาณิชย์  ,เฟซบุ๊ก SCB Thailand

 

ธอส. พักชำระหนี้ช่วย SME-รายย่อยจากมาตรการคุมโควิด 3 เดือน เริ่มส.ค.นี้

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้จัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ธอส. จึงได้จัดทำ 2 มาตรการ ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกค้าทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทยสร้างชาติ ปี 2564” ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางด้านรายได้จากการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ/การค้า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ ซึ่งมีรายละเอียดความช่วยเหลือ ประกอบด้วย

มาตรการที่ 15 [M 15] : พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564 สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้หรือสถานะกฎหมาย

มาตรการที่ 16 [M 16] : พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL (ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน ) หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับดอกเบี้ยที่พักชำระเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่างการใช้มาตรการที่ 15 และ 16 ลูกค้าสามารถทยอยชำระให้เสร็จสิ้นก่อนวันครบกำหนดสัญญากู้เงิน หรือ ปิดบัญชี โดย ธอส. จะเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. – วันที่ 29 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น. และจะต้อง Upload หลักฐานยืนยันการได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th

 

“ออมสิน” ปล่อยสินเชื่อร้านอาหาร “สินเชื่ออิ่มใจ” 11 ก.ค.-31 ธ.ค.64

“ธนาคารออมสิน”  ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนเกณฑ์การอนุมัติ “สินเชื่ออิ่มใจ” วงเงิน 2,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการกู้ได้รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกันการกู้ และให้ปลอดชำระเงินงวด 6 งวดแรก กำหนดระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี (รวมระยะเวลาปลอดชำระแล้ว) คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ

ธนาคารเตรียมเปิดให้บุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอกู้ทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.-31 ธ.ค.64 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

จากนั้นธนาคารจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนขอกู้ โดยผู้กู้จะต้องแนบรูปถ่ายสถานประกอบการของตนเอง พร้อมเอกสารประกอบอื่น เช่น รูปถ่ายใบเสร็จ/สัญญาเช่า/ใบทะเบียนการค้า หรือเอกสารอื่นใดเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการประกอบกิจการและการเป็นเจ้าของ

โดยสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นได้ หลังจากลงทะเบียนแล้วภายใน 5 วันทำการ หลังจากนั้นผู้ที่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้นสามารถยื่นขอกู้ได้ที่แอป MyMo ในขั้นตอนถัดไป รวมระยะเวลาอนุมัติ ไม่เกิน 7 วันทำการ

ทั้งนี้ ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่สามารถยื่นขอกู้ตามมาตรการ “สินเชื่ออิ่มใจ” จะต้องเป็นสถานประกอบการในพื้นที่ถาวร เช่น ร้านที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ฟู้ดคอร์ท รวมถึงร้านอาหารที่มีลักษณะเป็น Food Truck, Pop-Up Store, Booth & Kiosk เป็นต้น โดยธนาคารจะพิจารณาวงเงินให้กู้ตามขนาดของธุรกิจ

สำหรับผู้ขายอาหารที่เป็นหาบเร่ แผงลอย หรือ รถเข็น สามารถใช้บริการ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” ผ่านช่องทางแอป MyMo วงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท หรือถ้าเป็นกิจการร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อมากกว่า อาจใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ภาคการท่องเที่ยว วงเงินให้กู้รายละ 500,000 บาท ที่ยังเปิดรับคำขอกู้อยู่ขณะนี้ก็ได้

Back to top button