“หุ้นแบงก์” วิ่งยกแผง! โบรกมองบวก “ธปท.” ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ ชู SCB เด่นสุด เป้า 116 บ.

“หุ้นแบงก์” บวกยกแผง รับ “ธปท.” ออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด โบรกฯชู SCB เด่น ด้วยแนวโน้มของการตั้งสำรองฯที่เพียงพอแล้วและ NPL ไม่น่ากลัวเท่าคู่แข่ง  แนะ “ซื้อ” เป้า 116 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (23 ส.ค. 2564) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้นเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด นำทีมโดย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ณ เวลา 10.54 น. อยู่ที่ระดับ 115.00 บาท เพิ่มขึ้น 6.50 บาท หรือ 5.99% โดยทำจุดสูงสุดที่ 116.00 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 113.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.54 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ณ เวลา 10.54 น. อยู่ที่ระดับ 109.00 บาท เพิ่มขึ้น 5.00 บาท หรือ 4.81% โดยทำจุดสูงสุดที่ 110.00 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 107.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.59 พันล้านบาท

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ณ เวลา 10.54 น. อยู่ที่ระดับ 103.00 บาท เพิ่มขึ้น 4.25 บาท หรือ 4.30% โดยทำจุดสูงสุดที่ 103.50 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 100.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.39 พันล้านบาท

อีกทั้งธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ณ เวลา 10.54 น. อยู่ที่ระดับ 1.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 3.03% โดยทำจุดสูงสุดที่ 1.03 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 1.01 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 243.78 ล้านบาท

ด้านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 10.54 น. อยู่ที่ระดับ 10.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.92% โดยทำจุดสูงสุดที่ 10.80 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 10.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 297.20 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีทาง ธปท. ออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิดในวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ส.ค.) โดยมีรายละเอียดดังนี้ (1) แก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย (i) คงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วได้ จนถึง 31 มี.ค. 2565 จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2564 (ii) การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว (iii) ขยายเวลาลดเงินนำส่งเข้า FIDF ที่ 0.23% ออกไปเป็นปี 2565 จาก เดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2564

นอกจากนี้ (2) ขยายวงเงินให้สินเชื่อ Soft loan สำหรับ SMEs โดยเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย จากเดิมที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

อีกทั้ง (3) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์สินเชื่อรายย่อย คือ (i) ขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็นปี 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2564 สำหรับการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 5% (เดิมจะเพิ่มขึ้นเป็น 8% ในปี 2565) และขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่า จากเดิม 1.50 เท่าสำหรับลูกหนี้ที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน (ii) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงิน และระยะเวลาชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาท จำนวน 12 เดือน (เดิม 20,000 บาท 6 เดือน)

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (23 ส.ค.2564) โดยทางฝ่ายวิจัยมองเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารโดยการขยายระยะเวลาและคงการจัดชั้นในการช่วยเหลือลูกหนี้จะทำให้แนวโน้ม NPL จะไม่ปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด และการตั้งสำรองยังไม่เพิ่มขึ้นเยอะมาก ส่วนเรื่องการขยายเวลาลดเงินนำส่ง FIDF ออกไปอีก 1 ปี จะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ขณะที่ประเด็นที่ 2 จะช่วยให้แนวโน้มสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้การต่ออายุการลดเงินนำส่ง FIDF จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของธนาคารลงได้เลยทันที ซึ่งประเมิน sensitivity ภายใต้สมมติฐานให้มีการปรับลด FIDF fee เพียงอย่างเดียวที่ 0.23% จากเดิมที่ 0.46% โดยไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะมี Upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 11% โดยธนาคารขนาดใหญ่จะมี Upside มากกว่าธนาคารขนาดเล็กเพราะมีขนาดของเงินฝากมากกว่า ส่งผลให้ธนาคารที่มี Upside ต่อกำไรสุทธิในปี 2565 เรียงจากมาก – น้อยคือ KTB, BBL, TTB, SCB, KBANK, บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ขณะที่มี Upside ต่อราคาเป้าหมาย เฉลี่ยราว 1%

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยคาดว่า Upside จะเหลือไม่มากเพราะจะถูก offset ไปกับการช่วยเหลือลูกหนี้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงและมีการ Haircut หนี้ออกบางส่วน นอกจากนี้เชื่อว่า ธปท. ต้องการส่งผลบวกจากมาตรการนี้ไป ยังลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้สำหรับกลุ่มธนาคารทางฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด และชอบ SCB แนะนำ “ซื้อ ราคาเป้าหมาย 116.00 บาท เพราะแนวโน้มของการตั้งสำรองฯที่เพียงพอแล้วและ NPL ไม่น่ากลัวเท่าคู่แข่ง

 

 

 

Back to top button