KEX บวก 4% โบรกฯชูเป้า 45 บ. มองผลงานปี 65 ฟื้น กำไร 4 ปีโตเฉลี่ย 10%

KEX บวก 4% โบรกฯมองผลงานปี 65 ฟื้น กำไร 4 ปีโตเฉลี่ย 10% และสภาพคล่องทางการเงินสูงจะช่วยหนุนการเติบโตเชิงรุกในการขยายธุรกิจสู่ตลาด แนะนำ “ซื้อ” ชูเป้า 45 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (8 ต.ค. 2564) ราคาหุ้นบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ณ เวลา 16:00 น. อยู่ที่ระดับ 40.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 3.90% โดยทำจุดสูงสุดที่ 40.25 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 38.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 210.28 ล้านบาท

บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (7 ต.ค. 2564) โดยประเมินว่า โรงคัดแยกและอุปกรณ์ไอทีเป็นต้นทุนคงที่ ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุนผันแปร ดังนั้นแม้การขยายธุรกิจสู่ตลาดราคาประหยัดจะลดรายได้ต่อชิ้น (RPP) ลง 22.60% ในครึ่งปีแรก 2564 แต่ทว่าต้นทุนต่อชิ้น (CPP) และ OPEX ก็ลดลงด้วยเช่นกัน 22% และ 23% ตามลำดับ ขณะที่ NPM ยังทรงตัวได้ที่ 7.30% ปัจจุบันการแข่งขันได้ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยผู้เล่นสิบราย (ไม่รวมเจ้าของผลิตภัณฑ์) แต่มีเพียงไปรษณีย์ไทยและ KEX เท่านั้นที่มีกำไร ซึ่งจริงๆแล้วธุรกิจจัดส่งพัสดุเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ควรยืดหยุ่น แต่แข่งขันด้านราคาทำให้บริการนี้กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ไปแล้ว ดังนั้นความสามารถในการรักษาฐานทุน และสภาพคล่องจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยปริมาณ (Volume) ไม่ใช่ปัญหา

ทั้งนี้ Frost and Sullivan คาดการณ์การเติบโตของจำนวนพัสดุ 15% ในปี 2565 ซึ่ง ณ ส่วนแบ่งตลาด 30% การเติบโตของพัสดุของ KEX ก็อยู่ที่ 15% เช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีฐานของทางฝ่ายวิจัย แต่หากการเข้าสู่ตลาดราคาประหยัดดันให้ส่วนแบ่งตลาดในปี 2565 เพิ่มเป็น 35% ซึ่งกำไรสุทธิก็อาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 17% ซึ่งเทางฝ่ายวิจัยจะทบทวนประมาณการอีกครั้งเมื่อ KEX เริ่มธุรกิจนี้

สำหรับการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายอีคอมเมิร์ซในไทยแบบ B2C พุ่งสูงขึ้น โดยการแข่งขันที่รุนแรงส่งผลให้รายได้ต่อชิ้น (RPP) ลดลง แต่ด้วยการบริหาร ALM ที่ยอดเยี่ยม ทำให้ KEX ยังทำกำไรได้ ขณะที่คู่แข่งยังขาดทุน โดยความสามารถในการจัดคัดแยกพัสดุมากกว่า 2.00 ล้านชิ้นต่อวัน บริการที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ KEX จึงมีปริมาณการส่งที่สูงพอและสร้างกำไรสมมติฐานกรณีฐานของทางฝ่ายวิจัย CAPU เฉลี่ยประมาณ 50% แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในบางวันก็มากกว่านี้เป็นเท่าตัวอีกด้วย

ขณะที่ประเทศไทยเป็นสังคมการค้ามาโดยตลอด ทางฝ่ายวิจัยคาดว่ากิจกรรมของผู้ค้าเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการระบาดใหญ่คลี่คลาย เนื่องจากผู้คนได้เรียนรู้การสร้างแหล่งรายได้ขึ้นใหม่ด้วย e-commerce จึงคาดว่าผู้คนจำนวนมากจะมีส่วนร่วมใน social e-commerce มากขึ้น ด้วยเหตุผล (1) ต้นทุนต่ำและเริ่มต้นได้ด้วยเงินลงทุนไม่มาก (2) มีความยืดหยุ่นในการทำงาน และ (3) เกิดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพอิสระ ดังนั้น KEX คือทางออกของปัญหาในการนำสินค้าไปสู่ลูกค้าโดยตรง และ KEX จะสามารถเติบโตไปพร้อมกับ e-commerce แบบ C2C นี้ โดย Frost & Sullivan ประเมินการส่งพัสดุต่อ ประชากรไทยจะแตะ 21 ล้านชิ้นในปี 2565 จาก 11.50 ล้านชิ้นในปี 2562

อีกทั้ง KEX จะเข้าสู่ธุรกิจส่งสินค้าเย็น (Cold Chain) และการส่งแบบไม่เต็มตู้ (LTL) ในไตรมาส 4/2564 ซึ่งก็คล้ายๆกับธุรกิจ CEP เดิมที่ KEX ถนัดอยู่แล้ว ซึ่งด้วยประสบการณ์ความสามารถด้านเทคนิค และการนำเสนอโซลูชันครบวงจร ทางฝ่ายวิจัยเชื่อว่า KEX จะได้รับการตอบรับที่ดี

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยคาดจะเห็นการฟื้นตัวในปี 2565 และคาดการณ์กำไรสุทธิจะขยายตัวระหว่างปี 2563 – 2566 CAGR ที่10% ต่อปี โดยไม่รวม Upside จากธุรกิจใหม่ ดังนั้นบนสมมติฐานส่วนแบ่งตลาดอนุรักษ์นิยมที่ 30% ทางฝ่ายวิจัยเริ่มคำแนะนำด้วยราคาเหมาะสม 45.00 บาทต่อหุ้น คำนวณด้วยวิธี DCF (WACC 8.5%, 5% G)

 

Back to top button