CPF-GFPT ควงแขนบวก! รับอานิสงส์ “ซาอุฯ” ไฟเขียวนำเข้าเนื้อไก่ไทย 11 โรงงาน

CPF-GFPT ควงแขนบวก! รับข่าวประเทศซาอุดิอาระเบียไฟเขียวการนำเข้าเนื้อไก่จาก 11 โรงงานของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (15 มี.ค. 2565) ราคาหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ณ เวลา 10:11 น. อยู่ที่ระดับ 24.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 2.51% โดยทำจุดสูงสุดที่ 24.70 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 24.30 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 376.87 ล้านบาท

ส่วนราคาหุ้น บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ณ เวลา 10:11 น. อยู่ที่ระดับ 13 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.56% โดยทำจุดสูงสุดที่ 13.30 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 13 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 140.53 ล้านบาท

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่ารัฐบาลซาอุดิ อาระเบีย ได้เปลี่ยนสถานะการนำเข้าไก่จากประเทศไทยจากเดิมที่ “ห้ามนำเข้า” เป็น “อนุญาต” ให้นำเข้าได้ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งจะทำให้โรงงานผลิตเนื้อไก่ 11 แห่งของไทยสามารถส่งออกไปยังซาอุดิอาระเบียได้ ประเมินจะได้รับผลบวกโดยตรงจำกัดในระยะสั้น

ทั้งนี้แม้ว่าข่าวนี้จะแสดงถึงโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมไก่ไทย แต่ทางฝ่ายวิจัยคิดว่าผลบวกในระยะสั้นน่าจะยังจำกัดอยู่ เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันในตลาด ซึ่ง CPF ระบุว่ากรณีนี้จะช่วยเปิดตลาดใหม่ให้กับผู้ผลิตไก่ไทย แต่คู่แข่งที่สำคัญ (บราซิล) ยังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในแง่ของต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่า เนื่องจากบราซิลเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดรายใหญ่

ขณะเดียวกัน GFPT ระบุว่า บริษัทไม่น่าจะได้รับผลบวกโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะซาอุดิอาระเบียนำเข้าเนื้อไก่ดิบเป็นหลัก ในขณะที่สินค้าส่งออกของ GFPT เน้นไปที่ไก่แปรรูป อย่างไรก็ตาม ยังอาจจะมีผลบวกทางอ้อมหากการส่งออกไก่เพิ่มขึ้น จะทำให้อุปทานสำหรับตลาดในประเทศลดลง ซึ่งในกรณีนี้น่าจะทำให้ราคาไก่ในประเทศขยับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามข่าวนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับอุตสาหกรรมไก่ไทยในระยะยาว เพราะซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่ที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก โดยนำเข้าไก่ถึง 600,000 ตันในปี 2564 ในปัจจุบันประเทศหลักส่งออกไก่ไปที่ซาอุดิอาระเบียคือบราซิล (70%) และยูเครน และฝรั่งเศส (รวมกัน 30%) ในขณะที่ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่รวม 913,000 ตันในปี 2564 ทั้งนี้ ในบรรดา 11 โรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกเนื้อไก่ไปซาอุดิ อาระเบียได้นั้น มี 6 โรงงานจากเครือ CPF และอีกหนึ่งโรงงานจาก GFPT

โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” CPF เนื่องจากทางฝ่ายวิจัยคาดว่าราคาเนื้อสัตว์ในประเทศที่ขยับเพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทในปี 2565 ในขณะเดียวกัน  CPF ยังน่าจะฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ในแง่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 ซึ่งน่าจะลดลง และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่คลี่คลายลงไป

ส่วน GFPT ยังคงคำแนะนำ “ถือ” เนื่องจากทางฝ่ายวิจัยยังคงเป็นกังวลกับ GPM ของบริษัท ในขณะที่ GFPT ดูเหมือนจะมีสามารถจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้า ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยกำลังประเมินผลกระทบจากการที่ต้นทุนอาหารสัตว์สูงเกินคาดอันเป็นผลจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครนต่อราคาเนื้อสัตว์ และ Margin ของผู้ผลิตเนื้อสัตว์

Back to top button