“นายก” ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ย้ำปฏิบัติตาม “อนามัยโลก” ห่วงใยประชาชน

นายก สั่งติดตามสถานการณ์โควิด19 ต่อเนื่อง ห่วงใยประชาชนทุกกลุ่ม แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินแล้ว ย้ำเน้นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกลุ่มเปราะบาง


เมื่อวันที่ 8 พ.ค.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชนต่อกรณีโควิด–19 ที่แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2566 แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ยังแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังการปฏิบัติตัวและรับวัคซีนป้องกันเพิ่มภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

จากข้อมูลศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ดร.ไมค์ ไรอัน กรรมการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก และ ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าด้านเทคนิคสำหรับการตอบสนองของโควิด-19 ประจำองค์การอนามัยโลก ชี้แจงภายหลังองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 โดยอธิบายไว้ ดังนี้

  1. ยังไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปจากโลก (eradication) หรือหมดไปจากท้องถิ่น (elimination) ได้เพราะโคโรนา 2019 สามารถติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน และจากคนกลับสู่สัตว์ (zoonotic infection) จึงยากมากที่จะกำจัดไวรัสที่แพร่ระบาดในสัตว์และข้ามไปมาในคน
  2. องค์การอนามัยโลกยังถือว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก (Pandemic) ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น (Endemic)
  3. การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ใช่โรคที่ระบาดตามฤดูกาล (Seasonal infectious disease) เหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะองค์การอนามัยโลกยังไม่พบรูปแบบการระบาดในแต่ละช่วงของปี ดังนั้น หากไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์เมื่อใด ก็สามารถเกิดการระบาดได้เมื่อนั้นในทุกช่วงของปี
  4. องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลพอเพียงในขณะนี้ที่จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม หรือความถี่ห่างในการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น แต่ยังคงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อมีการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุว่า องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเกี่ยวกับโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคม 2563 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 จึงถือว่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยและในโลกจะดีขึ้นมากแล้วตามลำดับ แต่รัฐบาลไม่ได้ลดความเข้มข้นของการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุด เพื่อความสุข และความมั่นคงของประชาชนไทยทุกคน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเข้ารับวัคซีนเพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มเปราะบางในประเทศ

Back to top button