เลือกตั้งแข่งเดือด เงินสะพัด 9 หมื่นล้าน ดันดัชนีเชื่อมั่นนิวไฮรอบ 38 เดือน

เลือกตั้งแข่งเดือด ม.หอการค้าไทย มองเงินเข้าระบบเศรษฐกิจประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับสูงในรอบ 38 เดือน


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน เม.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 55.0 เพิ่มจาก 53.8 ในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งทำให้มีเงินหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่าง ๆ และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้ดัชนีสูงขึ้นแต่ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด เพราะประชาชนยังกังวลกับค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท และช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอีก 20,000-30,000 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 90,000 ล้านบาท เห็นได้จากการจับจ่ายในช่วงที่ผ่านมามีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้น จากที่ได้สำรวจในเดือนเมษายน เห็นได้จากเทศกาลสงกรานต์ ปี 66 ที่มีความคึกคัก ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยในช่วงเทศกาล แม้จะเป็นช่วงโลว์ซีซัน อีกทั้ง ในเดือน เม.ย. เป็นช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งความ เข้มข้นในการหาเสียงจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการลงพื้นที่หาเสียง แผ่นป้ายนโยบาย หรือการดีเบตต่าง ๆ ถือเป็นการแข่งขันทางการเลือกตั้งที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย จึงเป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแรงสะพัดที่สูงขึ้นตามไปด้วย”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัว 3-3.5% และมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 3.5% หากเศรษฐกิจโลกไม่รุนแรงจะทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการเมืองต้องมีเสถียรภาพ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3% ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค นักลงทุน การท่องเที่ยว จะประเมินเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้บริโภคยังกังวลคือเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และปัญหาค่าครองชีพสูง จากปัญหาค่าไฟแพง และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่สอดคล้องกับรายได้ในปัจจุบัน กระทรวงการคลังปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 66 ลงเหลือ 3.6% จากเดิม 3.8% เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวและกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ และปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5

โดยจากข้อมูลดัชนีที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ที่ระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกและสถาบันการเงินของโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทย

Back to top button