“ไบเดน” ใช้สิทธิวีโต้กฎหมาย “เก็บภาษีแผงโซลาร์” จากไทย

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ใช้สิทธิวีโต้ร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์ จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการเก็บภาษีจะทำ ชาวอเมริกันตกงาน 30,000 คน


นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ได้ใช้สิทธิวีโต้ร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ แผงโซลาร์เซลล์ จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 พ.ค.)

ก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ  หลังการใช้สิทธิวีโต้ของนายไบเดน ร่างกฎหมายดังกล่าวจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และทั้ง 2 สภาจะต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ในการลงมติรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว มิฉะนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จะตกไป

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถรวบรวมเสียงได้มากพอสำหรับการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ นายไบเดน ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวในเดือนมิ.ย.2565 โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือนเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และผลักดันนโยบายพลังงานสะอาด

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแถลงว่า บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนได้ใช้ฐานการผลิตในไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ได้แก่ BYD Co., Canadian Solar International Ltd., Trina Solar Science & Technology Ltd. และ Vina Solar Technology Co. ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัททั้ง 4 คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดที่มีการนำเข้าในสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ Auxin Solar ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อให้มีการสอบสวนว่า ผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่

อย่างไรก็ดี สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) เตือนว่าการเก็บภาษีนำเข้าต่อแผงโซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวจะส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงาน 30,000 คน

ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐหยุดชะงักลง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงแล้วอันเนื่องจากต้นทุนในระดับสูง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยขัดขวางนโยบายของปธน.ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐ

Back to top button