“พิธา” ลุ้นหนัก! กกต. เรียก “เรืองไกร-นพรุจ-สนธิญา” ให้ข้อมูลเรื่องหุ้นสื่อ

สำนักงาน กกต. เตรียมตรวจสอบ พิธา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล จากกรณีถือครองหุ้นสื่อ โดยเรียก เรืองไกร-นพรุจ -สนธิญา เข้าให้ข้อมูลวันนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีผู้ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ​ให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จากกรณีการถือครองหุ้น  บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV จำนวน 42,000 หุ้นนั้น ล่าสุดมีรายงานความคืบหน้าว่า​ ในวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคมนี้ ช่วงเช้า สำนักงาน กกต. ได้เชิญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาให้การยืนยันกรณีได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อกกต. หรือไม่ รวมทั้งให้ถ้อยคำเพิ่มเติม​ และยังได้เชิญ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องต่อกกต.ให้ตรวจสอบนายพิธาในกรณีเดียวกัน

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย วันเดียวกัน ได้เชิญให้ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษา​ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มาให้ถ้อยคำในการยื่นเรื่องร้องเรียนเดียวกันด้วย ส่วนกรณีของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คาดว่าสำนักงาน กกต.จะได้มีการเชิญมาให้ถ้อยคำในลำดับถัดไปภายในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน

ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 พ.ค. ที่สำนักงาน กกต. นายเรืองไกร ได้เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อกกต. พร้อมกับได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2563 ที่วินิจฉัยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่นจำกัด มีความผิดตามมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และคำวินิจฉัย กกต.ครั้งที่ 1/2564, 2/2564, 3/2564 และ 9/2564 มายื่นประกอบด้วย

ทั้งนี้ นายเรืองไกร ยืนยันว่า ไม่ใช่นักกฎหมายแต่เป็นผู้ตรวจสอบนักกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง ตนเองจำเป็นต้องขอให้กกต.ย้อนตรวจสอบนายพิธา ว่าสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ โดยอ้างอิงแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ส่วนกรณีที่ระบุว่า หากนายพิธาขายหุ้นทั้งหมดก็พ้นผิด เป็นกรณีที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิด หากมีความผิดก็ต้องผิดตั้งแต่วันที่สมัคร จะแก้ด้วยการโอนหุ้นเพื่อพ้นผิดไม่ได้  เป็นการวินิจฉัยแบบไม่เข้าใจกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ครอบคลุมถึงบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย แม้จะได้ถึง 376 เสียง ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ ต่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะร้อง ซึ่งอาจจะพ้นทั้งคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นายเรืองไกร ยังกล่าวอีกว่า กกต.จำเป็นต้องเร่งรัดตรวจสอบ ส่วนที่หลายคนมองว่าประเทศกำลังเดินหน้า เหตุใดจึงถึงมาร้องเช่นนี้ นายเรืองไกร กล่าวว่า ประเทศก็เดินหน้าไป คนกระทำความผิดหรือเข้าข่ายถูกตรวจสอบ ก็ต้องทำ

Back to top button