DMT จับมือพันธมิตรญี่ปุ่นรุกธุรกิจใหม่ อัพเป้าปีนี้โตเกิน 30%

“ทางยกระดับดอนเมือง” จับมือพันธมิตรญี่ปุ่น แตกไลน์ธุรกิจใหม่ด้านตรวจสอบ-ปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งอาคาร โรงงาน ทางด่วน ถนน รันเวย์ ตั้งเป้ารายได้เฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท Q4/66 เริ่มรับรู้รายได้ทันที


นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ในช่วงไตรมาส 4/2566 นี้ DMT จะมีรายได้เพิ่มจากการรับรู้รายได้บริษัทย่อยแห่งใหม่ ที่เพิ่งจัดตั้งบริษัทเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือ บริษัท เอ สยาม อินฟรา จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น 3 ราย คือ บริษัท ฮันชินเอ็กซ์เพรสเวย์ จำกัด (HEX) ถือหุ้น 19%, บริษัท อาครอสเทรดดิ้ง จำกัด (YK AKROS) ถือหุ้น 6.25% และบริษัท เคเอฟซี จำกัด (KFC) ถือหุ้น 6.25% ขณะที่ DMT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 68.50% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการโรดโชว์การให้บริการงานต่าง ๆ ของบริษัท เอ สยาม อินฟราฯ และเริ่มมีลูกค้าแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 นี้ ประมาณ 10 ล้านบาท และ DMT ยังคงนโยบายการปันผลในทุกไตรมาส

โดยตั้งเป้าว่าบริษัท เอ สยาม อินฟราฯ จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี และภายใน 5 ปีจากนี้จะขยายการดำเนินธุรกิจออกสู่กลุ่มลูกค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยรายได้จากบริษัท เอ สยาม อินฟราฯ จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-10% ของรายได้รวมของ DMT

สำหรับบริษัท เอ สยาม อินฟราฯ ดำเนินธุรกิจด้านการตรวจสอบ ตรวจวัด วิเคราะห์ ประเมิน ออกแบบและวางแผนเกี่ยวกับการซ่อมแซม การปรับปรุงและการเพิ่มความแข็งแรงโครงสร้างพื้นฐาน และจำหน่ายวัสดุที่เกี่ยวข้อง โดยมีจุดเด่นถือเป็นรายแรกของไทย คือมีการนำเข้าเครื่องสแกนโครงสร้างภายในจากประเทศญี่ปุ่น โดยสามารถสแกนได้ทุกโครงสร้าง ทั้งอาคาร โรงงาน ทางด่วน ถนน รันเวย์ เพื่อตรวจสอบการทรุดตัว การแตกร้าวภายในที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และมีทีมวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญสูงจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยปฏิบัติงานกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความคงทนและการซ่อมแซมแก่ลูกค้า

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3/2566 (ก.ค.-ก.ย. 2566) DMT จะปรับเพิ่มเป้าหมายผลการดำเนินงานปี 2566 ใหม่ โตเกิน 30% จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 1.1 แสนคันต่อวัน และตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ค่าผ่านทาง 1,832.08 ล้านบาท หลังจากพบว่าทิศทางปริมาณการจราจรในช่วงครึ่งปีหลังนี้ (ก.ค.-ธ.ค. 2566) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการจะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เพราะในเดือนสิงหาคมนี้เริ่มเห็นปริมาณการจราจรที่ระดับ 1.4-1.5 แสนคันต่อวันแล้ว

โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้การเดินทางกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนมายังท่าอากาศยานดอนเมืองที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 นี้ มีจำนวนเที่ยวบินจากจีนมายังท่าอากาศยานดอนเมืองประมาณ 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ ประเมินว่าในปี 2567 ผลการดำเนินงานของ DMT จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดที่ DMT มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 147,290 คันต่อวัน จากนั้นผลประกอบการของ DMT จะเติบโตเฉลี่ย 3-5% ต่อปี เช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

สำหรับสัญญาสัมปทานของ DMT ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดงจนถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยมีรายได้หลักจากการจัดเก็บค่าผ่านทางภายใต้สัญญาสัมปทานในรูปแบบ Build-Transfer-Operate (BTO) อายุสัมปทานสิ้นสุดวันที่ 11 กันยายน 2577 ซึ่งยังเหลือเวลาอีกประมาณ 11 ปีนั้น ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 กำหนดให้มีการศึกษาและเจรจากันก่อนสัมปทานหมดอายุ 5 ปี จึงยังเร็วไปที่จะสรุปว่า DMT จะได้ต่อสัญญากับกรมทางหลวง (ทล.) หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทาง DMT ได้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ 2-3 แนวทาง และมีความมั่นใจว่ากรณีนี้จะไม่ร้ายแรงถึงขั้น DMT มิได้ต่อสัญญา

Back to top button