“อนุทิน” ถก “ชัชชาติ” สางปม “สายสีเขียว” เล็งตั้งคกก.ศึกษาปัญหา

“อนุทิน” - “ชัชชาติ” หารือแก้ปัญหาสายสีเขียว ยันทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน


วันที่ 19 ก.ย. 66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์หลังร่วมหารือถึงการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เราต้องให้ความเป็นธรรม ทำตามกฏหมายทุกอย่าง ถ้าสองเรื่องนี้มาบรรจบกันได้ ยินดีแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นด้วยดี ทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฏหมาย มีความชอบธรรม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อถามว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะมีคำสั่ง ม.44 ค้างอยู่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาไม่ได้มาจาก ม.44 เพราะ ม.44 เป็นคำสั่งให้ทำอย่างไร้รอยต่อ ต้องดูปัญหาทั้งระบบถึงที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ต้องหารือกับผู้ว่าฯกทม. ในสัปดาห์หน้า เร่งสะสางปัญหาโดยเร็ว ทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าตรงไหนผิดก็ต้องว่าไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ขณะเดียวกันถ้ามีปัญหาต้องหาทางออกด้วย ทั้งนี้ จะปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้ ยืนยันทุกอย่างต้องมีทางออก

เมื่อถามว่า ยืนยันจุดยืนจะต่อสัมปทานออกไปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดคือทำตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ภายใน 5 ปีถึงจะคุยเรื่องนี้ได้ แต่เรื่องนี้เกิดที่ตนจะมาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และก่อนนายชัชชาติ จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งต้องกลับไปดูย้อนหลัง

ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่หารือระหว่างกันก็มีหลายเรื่องที่ต้องประสานงานกัน และหนึ่งในนั้นคือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องสำคัญซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดเล็ก ที่มีรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ก็มีข้อมูลมากพอสมควร และในสัปดาห์หน้าก็จะมาพูดคุยถึงรายละเอียดกันอีกครั้ง

เมื่อถามถึงประเด็นการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม. จะแก้ไขอย่างไร นายชัชชาติ ระบุว่า ทุกอย่างต้องมีทางออก และพูดคุยกันด้วยหลักการและเหตุผล ไม่น่าจะมีอะไร ทางรองนายกรัฐมนตรี มีข้อมูลที่ละเอียดกว่าตนด้วยซ้ำ สัปดาห์หน้าคงจะได้มีโอกาสกลับมาหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

เมื่อถามว่า โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายของรัฐบาล จะติดขัดในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องไปดูความหมายของ 20 บาทว่าคืออะไร เพราะเท่าที่ดูตอนนี้คือ 20 บาท จะตลอดเส้น แต่ถ้าเป็นสายสีเขียวก็ต้องมีการให้ความช่วยเหลืองบประมาณเพิ่มจากรัฐ เพราะในช่วงปี 2572 ยังมีสัมปทานอยู่ ซึ่งทางเอกชนก็มีสิทธิ์เก็บค่าโดยสารตามที่เขาต้องการ แต่หลังจากปี 2572 ทางกรุงเทพมหานครเป็นคนกำหนดค่าโดยสาร แต่ทั้งนี้ยังมีสัญญาจ้างการเดินรถกับเอกชนอยู่ หากเก็บ 20 บาท อาจจะไม่คุ้ม เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ตายตัวที่ต้องจ่ายอยู่ คำนวณแล้ว 33 บาท ซึ่งหากเก็บค่าโดยสารไม่ถึง ทางกรุงเทพมหานครก็จะขาดทุน.

Back to top button