“หมาแก่” แฉแก๊ง “4 เสือแหลมฉบัง”เอี่ยวขบวนการ“หมูเถื่อน” จี้ “กรมประมง”ทำไมไม่ตรวจตู้แช่

“ดนัย เอกมหาสวัสดิ์” พิธีกรรายการข่าวดัง ตั้งประเด็นถามกรมประมง ได้ตรวจตู้ขนหมูเถื่อนที่สำแดงเป็นเนื้อปลาแช่แข็งหรือไม่ ห่วงกระทบส่งไปอียู


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 พ.ย. 66) จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เร่งรัดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งจากต่างประเทศนั้น ล่าสุด นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการเจาะลึกทั่วไป อินไซด์ไทยแลนด์ หรือที่รู้จักในนาม “หมาแก่” ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กของรายการถึงปัญหา “หมูเถื่อน” ในขณะนี้ว่า ปัญหา “หมูเถื่อน” ถือเป็นปัญหาที่น่าสนใจ เพราะมีการขนส่งทางเรือในระยะไกลว่าจะมาจาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศเนเธอแลนด์ เยอรมนี  บราซิล อเมริกาใต้ และยุโรป โดยแพ็คอย่างดีใส่ตู้คอนเทนเนอร์ติดแอร์ เข้าเขตประเทศไทยที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่ไม่ได้แจ้ง หรือสำแดงสินค้าให้กรมศุลกากรรับทราบว่าเป็น “หมูเถื่อน” แต่มีการแจ้งว่านำเข้า “ปลาแช่แข็ง” นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า  หากแจ้งนำเข้าเป็นปลาแช่แข็งแล้ว กรมประมงได้มีการตรวจหรือไม่ เนื่องจากเวลามีสินค้านำเข้านั้น กรมศุลลากรมีหน้าที่แค่ตรวจเรี่องภาษีนำเข้าเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของสินค้าเกษตร เช่น ปลาแช่แข็ง กรมประมงจะต้องไปตรวจถึงที่มาที่ไป แต่เหตุใดยังไม่มีข้อมูลปรากฏในการดำเนินการในส่วนนี้

นอกจากนี้ หากมีการลำเลียงออกจากท่าเรือแหลมฉบังก็ต้องมีการใส่รถห้องเย็นขนออกกระจายเก็บห้องเย็นต่างๆทั่วประเทศ เพื่อรอจำหน่าย และเมื่อเคลื่อนออกท่าเรือต้องมีด่านกักกันสัตว์ของกรมปศุสัตว์ นี่จึงเป็นที่มาของการพูดถึงแก๊ง 4 เสือแหลมฉบัง โดยประกอบไปด้วย กรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ที่มีอำนาจตรวจสินค้านำเข้าเหล่านี้ ซึ่งตอนที่ขนออกจากท่าเรือจะต้องมีการเข้าไปตรวจ ขณะเดียวกันก็มีการพูดกันว่าตู้หมูเถื่อนที่สำแดงเป็นปลาแช่แข็งนั้น เรตราคาอยู่ที่ตู้ละ 30,000 บาทต่อตู้ โดยเป็นราคาที่จ่ายต่อ 1 หน่วยงาน

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้อาจจะบานปลาย ก็เพราะว่ามีการสำแดงเป็น “ปลาแช่แข็ง” แต่ไส้ในเป็น “หมูเถื่อน” ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อสำแดงเป็น“ปลาแช่แข็ง” แล้วทางกรมประมงได้ไปมีการตรวจหรือไม่  ถ้าไม่ได้ไปตรวจสอบก็จะมีประเด็นเชื่อมโยงกับทางอียูตามมา เรื่องนี้ก็จะอาจจะเป็นปัญหา เพราะเวลามีการนำเข้าอาหารทะเลเอามาขายในประเทศ หรือ เอามาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปแล้วส่งออก แล้วไปขายทางอียู ซึ่งทางอียูสามารถขอตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าวัตถุดิบนี้มาแบบถูกต้องหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงแจ้งว่าเป็น “ปลาแช่แข็ง” แต่กรมประมงไม่ได้มีการตรวจสอบอะไรเลย จึงเป็นตัวสะท้อนของการตรวจสอบย้อนกลับของกรมประมงได้

Back to top button